สธ. ให้ทุกจังหวัดเข้มข้นเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ 2009 หวัดใหญ่ฤดูกาล หวัดนก ตลอดหนาว

Wednesday, October 28, 2009 at 2:31 PM

สธ. ให้ทุกจังหวัดเข้มข้นเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ 2009 หวัดใหญ่ฤดูกาล หวัดนก ตลอดหนาว สาธารณสุข สั่งการให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะ 11 จังหวัดที่เคยมีไข้หวัดนกในสัตว์ระบาด เข้มข้นการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไข้หวัดนก ที่อาจมาพร้อมฤดูหนาวตลอด 4 เดือน ให้ทุกโรงพยาบาลจัดระบบคัดกรอง ซักประวัติสัตว์ปีกตายในรายที่มีอาการไข...
วันที่ 28 ตุ.ค 2552
(อาหารและสุขภาพ, Health channel, Health nutrition, Health article)

สธ. ให้ทุกจังหวัดเข้มข้นเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ 2009 หวัดใหญ่ฤดูกาล หวัดนก ตลอดหนาว

สาธารณสุข สั่งการให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะ 11 จังหวัดที่เคยมีไข้หวัดนกในสัตว์ระบาด เข้มข้นการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไข้หวัดนก ที่อาจมาพร้อมฤดูหนาวตลอด 4 เดือน ให้ทุกโรงพยาบาลจัดระบบคัดกรอง ซักประวัติสัตว์ปีกตายในรายที่มีอาการไข้ ไอ ทุกราย หากไข้ไม่ลดลงใน 48 ชั่วโมง ให้ยาต้านไวรัสทันที โดยเตรียมพร้อมห้องแยกโรค ป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล

วันนี้ (28 ตุลาคม 2552) ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ และผู้รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมโรคในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 240 คน เพื่อเร่งรัดการบูรณาการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ได้ขยายตัวไปทุกจังหวัด พบผู้ป่วยจากร้อยละ 90 ของอำเภอทั้งหมด และคาดว่าในช่วง 3-4 เดือนจากนี้ไปซึ่งเป็นฤดูหนาว เป็นฤดูที่พบการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล อาจเกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ ซึ่งในต่างประเทศพบการระบาดแล้ว นอกจากนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบเริ่มมีผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น และยังมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก แม้จะไม่พบผู้ป่วยมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ยังมีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ 11 จุดใน 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงราย ศรีสะเกษ พิษณุโลก และตาก ดังนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะต้องทำงานหนักขึ้นเป็น 3 เท่า ในการเฝ้าระวังโรค และการดูแลผู้ป่วย

นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และเคยพบสัตว์ปีกป่วยตายจากไข้หวัดนก เข้มข้นการดำเนินงาน ทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาล การเฝ้าระวังและการป้องกันควบคุมโรค ทั้งในโรงเรียน สถานประกอบการ ที่ทำงาน หอพัก สถานที่ดูแลเด็กเล็ก สถานสงเคราะห์คนชรา เรือนจำ หรือสถานที่ที่มีคนมารวมกันจำนวนมาก และชุมชน โดยเน้นการประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ และสถานบันเทิง จัดการป้องกันโรค และให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวและพนักงาน ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำไว้อย่างเคร่งครัดตลอดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนก เกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการใกล้เคียงกัน คือ ไข้ ไอ มีน้ำมูก และใช้ยารักษาชนิดเดียวกันคือโอเซลทามิเวียร์ เพื่อต้านการแบ่งตัวของไวรัส ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด จัดระบบการเฝ้าระวังและการตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการไข้หวัด เพิ่มการซักประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ และให้อสม.ทั่วประเทศให้ความรู้ 3 โรคนี้แก่ประชาชน สำรวจผู้ป่วย และรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในหมู่บ้านทุกวัน ตลอดฤดูหนาวตั้งแต่พฤศจิกายน 2552 - กุมภาพันธ์ 2553 หากพบผู้ป่วยให้แนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดห้องแยกดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นการเฉพาะ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 800 ห้อง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล และจัดเตรียมเวชภัณฑ์ ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ยาปฏิชีวนะในรายที่เกิดโรคแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย และยาจำเป็นสำหรับใช้กับผู้ป่วยหนัก และให้ยาโอเซลทามิเวียร์ในผู้ป่วยที่มีไข้ติดต่อกัน 2 วันทุกรายเพื่อลดการเสียชีวิต ทั้งนี้ แนะนำให้เกษตรกรที่เป็นไข้หวัด หยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหาย ไม่ควรเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ในฟาร์มสุกรและสัตว์ปีก เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสผสมข้ามสายพันธุ์

******* 28 ตุลาคม 2552
แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ [28/ตุ.ค/2552] (อาหารและสุขภาพ, Health channel, Health nutrition, Health article)

Related Posts:

Thai Health Article (Thailand) | RSS Subscribe | Go to top