หมอใหญ่ เผยหญิงวัย 16 ปีแท้งลูกที่โคราชไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แนะหญิงตั้งครรภ์ หากป่วยมีไข้ ไอ มีน้ำมูก รีบพบแพทย์ทันที - Flu

Friday, July 31, 2009 at 11:49 PM

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยหญิงอายุ 16 ปีแท้งลูกที่โคราช ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แนะหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ หากป่วยมีไข้ ไอ มีน้ำมูก ให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง ชี้ผลการศึกษาทั่วโลก พบยาต้านไวรัสโอเ...
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยหญิงอายุ 16 ปีแท้งลูกที่โคราช ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แนะหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ หากป่วยมีไข้ ไอ มีน้ำมูก ให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง ชี้ผลการศึกษาทั่วโลก พบยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ไม่มีผลต่อเด็กในครรภ์

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีหญิงอายุ 16 ปีตั้งครรภ์ได้ 6 เดือนและแท้งหลังมีไข้ ที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา ว่า ได้รับรายงานผลการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีพีซีอาร์ 2 ครั้ง พบไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หญิงรายดังกล่าว มาด้วยอาการไข้ ไอ หอบ ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลด่านขุนทด จ.นครราชสีมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 ถึงโรงพยาบาลมหาราช แพทย์ตรวจพบปอดอักเสบทั้ง 2 ข้าง ใส่เครื่องช่วยหายใจ รับตัวไว้รักษาในห้องไอซียู เริ่มให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์และยาปฏิชีวนะในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เวลาประมาณ 06.00 น. ได้แท้งลูก อาการล่าสุดวันนี้ยังมีไข้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สถานพยาบาลทั่วประเทศปรับยุทธศาสตร์ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ โดยให้อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานีอนามัย ออกเยี่ยมหญิงตั้งครรภ์ที่บ้าน พร้อมให้การดูแลและคำแนะนำการปฏิบัติตัว โดยขอให้หลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมผู้ป่วยอื่น ๆ ในโรงพยาบาล หากมีผู้ป่วยไข้หวัดอยู่ในบ้าน ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย และหากมีอาการป่วยอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยร่างกาย ท้องเสีย อาเจียน ขอให้รีบไปโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอดูอาการหรือซื้อยากินเอง เพราะการพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและรับยาต้านไวรัสเร็ว จะเป็นผลดีต่อทั้งแม่และเด็ก โดยผลการศึกษาทั่วโลก ยืนยันตรงกันว่ายาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์มีความปลอดภัย ไม่มีผลเสียต่อเด็กในครรภ์ และทำให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้จนถึงคลอด

******************************* 31 กรกฎาคม 2552

สธ. เตรียมนัดหารือเงื่อนไขการใช้ยา ต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ในคลินิกกทม. เร็วๆนี้ - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Thursday, July 30, 2009 at 11:57 PM

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมนัดหารือเงื่อนไขการใช้ยาต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ในคลินิกกทม. ร่วมกับรองผู้ว่ากรุงเทพฯเร็วๆนี้ แนะผู้เข้าชมคอนเสิร์ตควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อโรคทางเดินหายใจไปสู่ผู้อื่นเนื่องจากเชื้อโรคที่เกิดจากการไอ จามของผู้ป่วย สามารถกระจายออกไปไกลถึง 3 ฟุต โดยผลการวิจัยองค์การอนามัยโลก พบการใส่หน้ากากอนามัยสามารถลดการแพร่กระจายของละอองเสมหะที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ถึงร้อยละ 80

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการกระจายยาต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ให้คลินิกว่า หลังจากที่ได้ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัดเมื่อวานนี้ เพื่อแจ้งเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการใช้ยาของคลินิกในต่างจังหวัดแล้ว ส่วนคลินิกในกรุงเทพมหานครจำนวน 3,805 แห่ง จะประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมที่เกี่ยวข้องในบ่ายวันนี้ และจะนัดหารือรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดรายละเอียดการจ่ายยาตามเงื่อนไข ที่รวดเร็ว รัดกุม แต่ต้องเคร่งครัดในเงื่อนไขทั้ง 8 ประการตามที่คณะอนุกรรมการระดับชาติกำหนด

ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะเริ่มให้คลินิกแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการฯ จัดอบรมชี้แจงตามแนวทางที่ตั้งไว้ และตรวจสอบระบบการรายงานให้เป็นไปตามเงื่อนไข หากเข้าเงื่อนไขก็พร้อมจ่ายยาได้ อยู่ที่ความพร้อมของคลินิก และให้รายงานการจ่ายยาทุกวัน หากพบคลินิกไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขก็ไม่สามารถจ่ายยาได้ และประชาชนไปตรวจรักษาที่คลินิกไม่มียา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คลินิกต้องแนะนำให้ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐทันที และประชาชนทั่วไปหากเป็นไข้สูงรีบไปโรงพยาบาลทันทีด้วยเช่นกัน

ทางด้านนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในเย็นวันนี้เวลา 18.00น. จะนำหน้ากากอนามัยกระดาษใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวน 5,000 ชิ้น เจลล้างมือ จำนวน 4,000 ชิ้น พร้อมเอกสารคู่มือ รู้ทันไข้หวัด 2009 จำนวน 10,000 ฉบับ ไปแจกให้กับผู้เข้าชมคอนเสิร์ตเบิร์ด (ธงชัย แมคอินไตย) ที่เมืองทองธานี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดใหญ่เนื่องจากมีประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายมานิต กล่าวว่า เนื่องจากเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในละอองน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย จากการไอ จาม สามารถกระจายออกไปไกลถึง 3 ฟุต ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมีโอกาสรับเชื้อได้ ซึ่งงานวิจัยขององค์การอนามัยโลกพบว่า การใส่หน้ากากอนามัยสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อที่ปะปนอยู่ในละอองน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยจากาการไอจามได้ถึงร้อยละ 80 ดังนั้นผู้ที่กำลังเป็นหวัด และจะเข้าชมคอนเสิร์ต จะต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น

สธ.ขอให้สถานพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดใหญ่อย่างเคร่งครัด ลดความเสี่ยงป่วยของบุคลากร และผู้รับบริการ - Influenza A

at 11:55 PM

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ขอให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันบุคลากร และประชาชนที่มารับบริการเจ็บป่วย

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ กระจายในทุกจังหวัด และอยู่ในช่วงหน้าฝนซึ่งเป็นฤดูที่พบการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ทำให้มีประชาชนเจ็บป่วยเป็นไข้หวัดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากวันละประมาณ 18,000 คนทั่วประเทศ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ หากไม่มีการป้องกันที่ดีพอ จึงขอให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด ตามมาตรฐานสากล โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำเผยแพร่ผ่านเวปไซต์ http://beid.ddc.moph.go.th และแจกจ่ายแก่สถานพยาบาลทุกแห่งตั้งวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยในกลุ่มบุคลากรการแพทย์และประชาชนที่มารับบริการ

แนวทางการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง จัดสถานที่ตรวจคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดแยกจากผู้ป่วยอื่นๆ การจัดหอรองรับผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย จัดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เครื่องมืออุปกรณ์ในการดูแลรักษาและเสื้อผ้าของผู้ป่วย คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ญาติและผู้เข้าเยี่ยม ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลและเมื่อกลับบ้าน

นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า สำหรับบุคลากรในสถานพยาบาลทุกคน ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และหากป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ กำลังตั้งครรภ์ หรือมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคไตวาย ภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ควรปฏิบัติงานกับผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังให้ สถานพยาบาลทุกแห่งจัดอบรมความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่ การดูแลผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ และการป้องกันการติดเชื้อแก่บุคลากร เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล ขอให้สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเสมอ ส่วน การปฏิบัติของญาติและคนเยี่ยมไข้ หากป่วยเป็นหวัด มีโรคประจำตัว ภูมิต้านทานต่ำ หรือเป็นเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ ขอให้งดเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลโดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และหากผู้เข้าเยี่ยมมีไข้ หรืออาการผิดปกติทางเดินหายใจหลังเยี่ยมผู้ป่วยครั้งสุดท้ายภายใน 7 วัน ขอให้ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษาโดยละเอียด นายแพทย์สุพรรณกล่าว

**************************************** 30 กรกฎาคม 2552

วิทยา เรียกประชุมแพทย์ใหญ่ ประธานอสม.ทุกจังหวัด เร่งค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้าน ชุมชนทั่วไทย เริ่มวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป พุ่งเป้า 5 ล้านคนต่อวั

Wednesday, July 29, 2009 at 11:56 PM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และประธานชมรม อสม.ทุกจังหวัด ให้อสม.ทุกหมู่บ้านจัดทำแผนชุมชนป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศในการป้องกันควบคุมโรคในระดับชนบท ออกเยี่ยมบ้านให้ความรู้ป้องกันการป่วยและลดการแพร่เชื้อ และค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ลดการเสียชีวิต เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศ 31 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป มั่นใจเยี่ยมบ้านได้วันละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

วันนี้ (29 กรกฎาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมมอบนโยบายเร่งรัดบทบาท อสม. และแนวทางดำเนินการสร้างความพร้อมในการรับมือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพภาคประชาชน ประธานชมรมอสม. ทุกจังหวัด ประมาณ 300 คน ว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของไทย พบว่าจำนวนผู้ป่วยในระยะ 2-3 เดือนจากนี้ไป จะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยทีมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้ขอความร่วมมือประธานอสม. ทุกจังหวัด ประสานการทำงานของอสม.ในเครือข่าย เพื่อดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในหมู่บ้านชุมชน ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะระดมพลัง อสม.กว่า 987,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อสม.ทุกคน มีความพร้อมและมุ่งมั่นช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ปฏิบัติงานเอาชนะปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยให้อสม.ทุกหมู่บ้านจัดทำแผนป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ที่เหมาะสมกับหมู่บ้าน/ชุมชนของตน ส่งให้กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมเพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ในระดับชนบท

นอกจากนี้ ให้ออกเยี่ยมบ้านเพื่อให้คำแนะนำและแจกเอกสารความรู้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แก่ประชาชน และค้นหาคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ทุกหมู่บ้านชุมชนในความรับผิดชอบของแต่ละคน ประมาณ 1015 หลังคาเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน โรคไต ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ โรคอ้วน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หญิงมีครรภ์ ให้มาพบแพทย์ทันทีที่ป่วยเป็นไข้หวัด ส่วนประชาชนทั่วไปให้ติดตามอาการ หากป่วยเป็นไข้หวัด 2 วันแล้วยังไม่ดีขึ้นให้ส่งไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ลดการเสียชีวิต และติดตามอาการจนหายป่วย พร้อมทั้งรายงานข้อมูลคนป่วยให้สถานีอนามัยในพื้นที่ทุกวัน โดยจะดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป มั่นใจว่า จะสามารถเยี่ยมบ้านได้วันละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ขอให้เอาจริงเอาจัง และเพิ่มความเข้มข้นในการติดตามสนับสนุนการทำงานของอสม.อย่างใกล้ชิด ทั้งด้านวิชาการ เอกสารเผยแพร่ความรู้ อุปกรณ์ปฏิบัติงานของอสม. เช่น ปรอทวัดไข้ ให้เพียงพอในการคัดกรองหาผู้ป่วย และประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายในจังหวัด ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคม และสถานประกอบการต่าง ๆ ในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานในส่วนกลาง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

*********************************** 29 กรกฎาคม 2552

สธ.ส่ง อสม.ทั่วประเทศเคาะประตูบ้านค้นหาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ฯ2009ดีเดย์31 ก.ค.นี้ - Influenza A(H1N1)

at 11:54 PM

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ชัยนาท รณรงค์ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 พร้อมระดมพลังอสม.กว่า 980,000 คน ทั่วประเทศเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 3 วัน ให้ความรู้ในการป้องกันโรคและค้นหาผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552นี้เป็นต้นไป

วันนี้(29 กรกฎาคม 2552)นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเปิดการรณรงค์รู้ทันเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ศาลากลาง จังหวัดชัยนาท โดยมอบคู่มือประชาชนป้องกันตนเองจำนวน 65,000 เล่ม หน้ากากอนามัย จำนวน 250,000 ชิ้น น้ำยาฆ่าเชื้อโรคชนิดเข้มข้น 400 ลิตร มอบให้โรงเรียนในจังหวัดชัยนาท 200 แห่ง เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อในโรงเรียน และมอบนโยบาย อสม. ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในหมู่บ้าน/ชุมชน

นายมานิต กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมป้องกันโรค ได้คาดการณ์การแพร่ระบาดจะขยายตัวไปทั่วประเทศและอาจยาวนานถึง 2 ปี ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่ติดต่อกันได้ทางการไอจาม เช่น วัณโรค และใส่ป้องกันตัวเองเมื่อต้องอยู่ในที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก หรืออยู่ในที่ที่การระบายอากาศไม่ดี จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า การใส่หน้ากากอนามัยจะช่วยกรองเชื้อโรคและลดการแพร่กระจายเชื้อโรคที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูกน้ำลาย จากการไอ จาม ไปสู่คนอื่นได้ถึงร้อยละ 90 หากล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูก ควบคู่ไปด้วย จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ได้ผลดี

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2552 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มระดมพลังอสม.ทั่วประเทศซึ่งมีกว่า 980,000 คน ออกเยี่ยมบ้านในความรับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน มีเป้าหมายค้นหาผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน ไต ผู้ที่อ้วน ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ปฏิบัติการสัปดาห์ละ 3 วัน โดยจะให้คำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ตามคู่มือของกระทรวงสาธารณสุขด้วย เพื่อให้ประชาชนที่ป่วยสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องและหายป่วย หากพบคนในหมู่บ้านป่วย มีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง อสม.จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ส่วน อสม.จะติดตามอาการผู้ป่วยทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ วิธีนี้จะทำให้ประชาชนอุ่นใจและลดการเสียชีวิตได้

สำหรับมาตรการการรักษา เน้นย้ำให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ให้การรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัว หากมีอาการไข้ร่วมกับอาการหวัด หลังกินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงหลังป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ หากมีอาการร่วมกับอาการหวัดต้องรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ควรซื้อยาลดไข้กินเอง ซึ่งคนทั้งสองกลุ่มนี้ต้องได้กินยาต้านไวรัส ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มป่วย ซึ่งยาดังกล่าวจะให้ผลดีมากในการรักษา และใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมียาต้านไวรัสเพียงพอสำหรับประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทุกคน นายมานิตกล่าว

***********************************29 กรกฎาคม 2552

สธ. ส่ง 8 เงื่อนไข พร้อมแนวทางรักษา ให้คลินิกจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 11:50 PM


กระทรวงสาธารณสุขส่ง 8 เงื่อนไขป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ พร้อมแนวทางรักษาให้คลินิกทั่วประเทศ กำชับใช้อย่างเข้มงวด ชี้ยานี้ใช้รักษาหลังป่วยแล้ว ส่วนมาตรการควบคุมการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งนัดตรวจครรภ์ห่างขึ้น จัดระบบเยี่ยมที่บ้านทุกคน

วันนี้ (29 กรกฎาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ. ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โรงพยาบาลศิริราช พญ.สยมพร ศิรินาวิน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์ไวรัสวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า

สำนักระบาดวิทยารายงานข้อมูลในรอบสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 22 28 กรกฎาคม 2552 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 65 ราย ใน 27 จังหวัด แยกเป็นภาคกลาง 13 จังหวัด ภาคอีสาน 6 จังหวัด ภาคเหนือ 4 จังหวัด และภาคใต้ 4 จังหวัด เป็นหญิง 30 ราย ชาย 35 ราย พบทุกกลุ่มอายุ โดย 41 ราย เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มากที่สุดคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด 14ราย เบาหวาน 9 ราย อ้วนน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม 9 ราย โรคปอดหรือสูบบุหรี่จัด 7 ราย ไตวายเรื้อรัง 6 ราย กินยากดภูมิต้านทาน 4 ราย โรคระบบเลือดและตั้งครรภ์ อย่างละ 3 ราย โรคตับและพิการแต่กำเนินอย่างละ 2 ราย

ในส่วนของผู้เสียชีวิตที่เหลืออีก 24 ราย ที่เป็นผู้ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลล่าช้า หลังป่วยแล้วถึง 6 วัน ทำให้การให้ยาต้านไวรัสไม่ได้ผลดี สำหรับข่าวที่ว่ามีผู้เสียชีวิต 66 รายนั้น ผู้ป่วยไม่ได้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ต่อมาโรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีการประชุมและแจ้งให้ทราบ กระทรวงสาธารณสุขจึงขึ้นทะเบียนผู้เสียชีวิตยืนยันเพียง 65 รายเท่านั้น
ทั้งนี้ มาตรการลดผู้ป่วยหนักและลดการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการตามคำแนะนำของ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับชาติ ซึ่งมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ โดย 1.เร่งให้ความรู้กับแพทย์ทุกคนในการดูแลรักษาตามแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และ 2.กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้คลินิกทั่วประเทศ ตามมาตรฐานการดำเนินงาน 8 ข้อ ดังนี้

1.คลินิกทั่วประเทศจะต้องมีแพทย์เป็นผู้ดูแลและเป็นผู้สั่งจ่ายยาได้เท่านั้น 2.คลินิกจะต้องจัดส่งรายงานหลักฐานการจ่ายยาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือกระทรวงสาธารณสุขทุกวัน 3.คลินิกจะต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อในคลินิกทุกแห่ง 4.คลินิกที่ต้องการมียาต้านไวรัสไว้ในคลินิก จะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการและแพทย์ในคลินิกทุกคนจะต้องได้รับการอบรม และประเมินความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ 5.ให้คลินิกมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล 6.คลินิกควรมีกลไกในการติดตามผู้ป่วยทุกรายหลังการรักษา 7.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดระบบการตรวจสอบคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งในเรื่องมาตรฐานการดูแลรักษา การสั่งจ่ายยา การป้องกันการติดเชื้อในคลินิกทุกเดือน

8.คลินิกที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโรคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในบ่ายวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งมาตรการดังกล่าว ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ นำไปให้คลินิกทุกแห่งในพื้นที่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

สำหรับปัญหาการดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ ขณะนี้พบ 5 ราย ใน 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น 2 ราย แคนาดา เดนมาร์ค และฮ่องกง แห่งละ 1 ราย แต่ยังไม่พบในไทย การดื้อยาดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกประเทศต้องเฝ้าระวังการใช้ยาอย่างใกล้ชิด และให้ยาอย่างระมัดระวังอย่างที่สุด โดยใช้รักษาผู้ป่วยเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส จะไม่ใช้เพื่อป้องกันเพราะไม่ได้ผล ซึ่งในประเทศไทย ยานี้จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ไม่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป มีเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และคลินิกที่เข้าโครงการเท่านั้น อย่างไรก็ตามประเทศที่มีการดื้อยาก็ยังคงใช้ยาตัวเดิม ขณะเดียวกันต้องมีการสำรองยาต้านไวรัสคือ ยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) สำหรับเชื้อดื้อยา เป็นยาตัวที่ 2 ตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งไทยได้สั่งซื้อจำนวน 20,000 ชุดใช้งบประมาณทั้งหมด 9 ล้านบาท

นอกจากนั้น รัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มขีดความสามารถของห้องไอซียูในการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต โดยเพิ่มเครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษ ให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวม 210 เครื่อง เป็นเครื่องสำหรับผู้ใหญ่ 180 เครื่อง และสำหรับเด็ก 30 เครื่อง ใช้งบประมาณ 180 ล้านบาท เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับการดูแลในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีประมาณปีละ 800,000 คน ได้ให้ อสม. ออกแนะนำและคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ประมาณ 80,000 แห่ง สำหรับสถานพยาบาล ให้ปรับการนัดตรวจครรภ์ให้ห่างขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงรับเชื้อในโรงพยาบาลเมื่อมาฝากครรภ์ และจัดระบบเยี่ยมบ้านหรือติดตามอาการทางโทรศัพท์อย่างทั่วถึง ในส่วนของหอผู้ป่วยทุกแห่ง ขอให้ผู้ที่เป็นไข้หวัดงดเยี่ยมผู้ป่วยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ไปสู่ผู้ป่วย ซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เด็กอ่อน ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

************************* 29 กรกฎาคม 2552

วิทยา ระบุคลินิกที่จะเข้าร่วมจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด - Influenza A(H1N1)

Tuesday, July 28, 2009 at 11:56 PM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการ ฯระบุคลินิกที่จะเข้าร่วมจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ รักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ป้องกันเชื้อดื้อยา แนะประชาชนหากเป็นไข้โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ ทั่วประเทศ มียารักษาเพียงพอ

วันนี้ (28 กรกฎาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ในคลินิก เพื่อให้ประชาชนที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าถึงยาว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ฯ ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิตเนื่องจากมีโรคประจำตัว ส่วนหนึ่งไปรักษาและได้รับยาช้า จึงต้องเร่งแก้ไข โดยได้นำข้อมูลนี้รายงานต่อคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นผู้ชี้และแนะนำกำหนดแนวทางทั้งหมดให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ

ผลจากการประชุมเมื่อวานนี้ ได้รับรายงานว่า คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้กำหนดยุทธศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข มีข้อแนะนำให้กระจายยาในคลินิกได้ แต่มีเงื่อนไขต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด 8 ข้อ ซึ่ง เป็นไปตามการชี้แนะของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาระดับชาติ โดยมีอาจารย์จากทุกมหาวิทยาลัยเป็นคณะอนุกรรมการ เพื่อระมัดระวังปัญหาดื้อยา กระทรวงสาธารณสุขพร้อมปฏิบัติตาม ซึ่งการควบคุมการใช้ยาในคลินิกทำได้ไม่ยาก เนื่องจากแพทย์ในคลินิกต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว

นายวิทยากล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้จะประชุมนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด และจะแจกข้อสรุปเงื่อนไขดังกล่าวเป็นคู่มือ เพื่อให้คลินิกที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติตาม เพื่อให้แพทย์จ่ายยาด้วยความระมัดระวัง โดย ประชาชนที่เข้าไปรักษาที่คลินิกจะต้องเสียเงินค่ารักษาเอง แต่หากใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพจะให้การรักษาฟรี ซึ่งขณะนี้เปิดช่องทางพิเศษสำหรับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ไว้แล้ว และมียารักษาเพียงพอ

อยากเรียกร้องให้ประชาชน หากป่วยไม่สบายให้เข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ส่วนคนที่สุขภาพดีหากเป็นไข้ หากดูอาการที่บ้าน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดภายใน 2 วัน ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที นายวิทยา กล่าว

*********************************** 28 กรกฎาคม 2552

มานิต คุมเข้มมาตรการจ่ายยาต้านไวรัสในคลินิก จ.ราชบุรี เผยผลตรวจหญิงท้อง 7 เดือนรายล่าสุดไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 11:52 PM

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี จัดระบบควบคุมกำกับการใช้ยาในคลินิกในจังหวัดอย่างเข้มงวด เผยผลตรวจหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือนที่จังหวัดราชบุรีรายล่าสุด พบไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ อาการเริ่มดีขึ้น ส่วนเด็กที่ติดเชื้อจากแม่ขณะตั้งครรภ์อาการดีขึ้นเช่นกัน ทั้ง 2 รายยังคงอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการกระจายยาต้านไวรัสในคลินิก เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงยาต้านไวรัสรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ซึ่งได้ทดลองนำร่องที่จังหวัดราชบุรี ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นมา ว่า ได้เน้นให้ดำเนินการเฉพาะคลินิกที่มีแพทย์ดำเนินการอย่างถูกต้องตามพ.ร.บ.สถานประกอบการพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับรายงานว่ามีทั้งหมด 150 แห่ง ขณะนี้ทุกแห่งมียาต้านไวรัสสำรองไว้แห่งละ 50 เม็ด และมีระบบเบิกจ่ายกับโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอที่คลินิกนั้นตั้งอยู่ พร้อมทั้งจัดส่งรายงานผู้ป่วยและการใช้ยา ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีเป็นประจำทุกวัน เพื่อควบคุมกำกับให้มีการใช้ยาอย่างเหมาะสม ตามแนวทางการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข ป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา โดยในบ่ายวันนี้ จะมีการประชุมแพทย์ผู้ประกอบการคลินิก เพื่อกำชับแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยรวมทั้งการให้ยาต้านไวรัส และชี้แจงมาตรการคัดกรองและการส่งต่อผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แก่ผู้ประกอบการร้านขายยา คลินิกผดุงครรภ์ และเจ้าหน้าที่ของสถานีอนามัยทุกแห่งในจังหวัดราชบุรีด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วขึ้น

นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับอาการผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือนรายล่าสุด ที่เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีเมื่อเย็นวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 และสงสัยป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ นั้น ได้รับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงครามแล้ว ยืนยันไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ วันนี้อาการดีขึ้น สามารถหายใจได้เอง อาการเหนื่อยหอบน้อยลง แพทย์ยังคงสังเกตอาการทั้งแม่และลูกในครรภ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนเด็กที่ติดเชื้อจากแม่ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์ได้ผ่าตัดคลอดก่อนกำหนดนั้น ขณะนี้ได้รับยาต้านไวรัสครบชุดแล้ว แต่ยังคงอยู่ในตู้อบเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกาย วันนี้อาการดีขึ้น หายใจปกติ ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ เริ่มกินนมได้ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1,620 กรัม แพทย์ยังคงเฝ้าระวังเรื่องการติดเชื้อและดูแลการหายใจต่อเนื่อง หากดูดนมเองได้ดีและน้ำหนักตัวเพิ่มเป็น 1,800-2,000 กรัม จะให้กลับบ้านได้

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ขณะนี้วิตกกังวล เกี่ยวกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ จนเกินไป เพราะอาจทำให้เสียสุขภาพจิตและกระทบต่อลูกในครรภ์ได้ แต่ควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง ฝากครรภ์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหากรู้สึกไม่สบาย ให้รีบไปพบแพทย์รักษาทันที นายมานิตกล่าว

************************************* 28 กรกฎาคม 2552

มานิต รณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ดูแลเบื้องต้นเมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโรครุนแรง - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 11:50 PM


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเรื่องการดูแลเบื้องต้นเมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ กำชับสถานพยาบาลทุกแห่งป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ตามมาตรการของกระทรวงฯ อย่างเข้มงวด สร้างความเชื่อมั่นผู้ป่วยว่าจะได้รับดูแลรักษาอย่างถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพทางการแพทย์ พร้อมตรวจสอบการกระจายยาต้านไวรัสทั่วประเทศ และให้ สปสช.เรียกโรงพยาบาล คลินิกเอกชนในเครือข่าย หารือการรักษาเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกระทรวงสาธารณสุข

วันนี้ (27กรกฎาคม2552) ที่ห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ กทม. นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดโครงการ แพทย์ห่วงใย ประชาร่วมใจ พ้นภัยไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในระบบการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ตามมาตรฐานวิชาชีพ

นายมานิต กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ขณะนี้ได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ ที่ผ่านมาแม้ว่าผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ กว่าร้อยละ 99 รักษาหาย แต่มีกลุ่มเสี่ยงบางรายที่ได้รับเชื้อและมีอาการแทรกซ้อนจนเสียชีวิต ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ ซึ่งดูแลมาตรฐานการรักษาโรคนี้ เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแนวทางการรักษา การสังเกตอาการ และการดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อให้ประชนมีความรู้ในการป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และเชื่อมั่นในระบบการดูแลรักษา ว่าผู้ป่วยทุกคนทุกสิทธิการรักษา จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพทางการแพทย์ และมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

นายมานิต กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล ขณะนี้มีความสำคัญมาก ต้องเร่งลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยประชาชนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัว หากมีอาการไข้ร่วมกับอาการหวัด กินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันควรรีบพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หากมีอาการไข้ร่วมกับอาการหวัดต้องรีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยาลดไข้กินเอง ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มนี้ต้องได้กินยาต้านไวรัส ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มป่วย ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ยืนยันว่าขณะนี้มียาต้านไวรัสเพียงพอสำหรับประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทุกคน

ในวันนี้ได้ให้ตรวจสอบการกระจายยาต้านไวรัสในสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ โดยทุกแห่งต้องมียาต้านไวรัสอย่างเพียงพอและทั่วถึง และให้ สปสช. เชิญโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน ที่เป็นเครือข่ายทั้งหมด หารือเรื่องบริการรักษาพยาบาล เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการที่จะให้คลินิกเอกชน จ่ายยาต้านไวรัสได้เองนั้น ในช่วงบ่ายวันนี้คณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ จะได้หารือในรายละเอียดว่าควรได้รับยาหรือไม่ หากได้รับยาจะมีมาตรฐานการควบคุมอย่างไร เนื่องจากข้อมูลขณะนี้พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 30 เสียชีวิตจากการได้รับยาช้าไป เพราะบางรายป่วยอยู่กับบ้านนานก่อนที่จะมาพบแพทย์ ทำให้เชื้อลุกลามลงปอด และบางรายไปรักษาที่คลินิกก่อน ไม่ดีขึ้นจึงค่อยมาโรงพยาบาลนายมานิตกล่าว

ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในไทยมีแนวโน้มเป็นโรคประจำถิ่น การดูแลรักษาผู้ป่วยต้องทำอย่างเร่งด่วนและสอดคล้องกับสถานการณ์ของโรค เป็นการแสดงถึงศักยภาพของแพทย์ไทยในการรับมือกับวิกฤตการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ โดยให้ความรู้มาตรการป้องกันไม่ให้ป่วย และหากป่วยแล้วต้องรู้จักแนวทางการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง ก็จะปลอดภัยจากโรค เพราะโรคนี้สามารถป้องกันได้และรักษาหายได้ ทั้งหายได้เอง และจากการได้รับยาช่วย สิ่งสำคัญคือผู้ที่ป่วยต้องรีบพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยให้อาการหนักจนเชื้อลุกลามทำลายปอด โอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจะสูงมาก

***************************** 27 กรกฎาคม 2552

รมช.สธ. เตรียมพร้อม อสม. โคราช ค้นหาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในหมู่บ้าน - Influenza A(H1N1)

Sunday, July 26, 2009 at 11:55 PM

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินสายมอบนโยบายอสม. โคราช รับมือการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในหมู่บ้าน/ชุมชน ลดการเสียชีวิต ซึ่งอสม. เริ่มปฏิบัติการพร้อมกันทั่วไทย 27 กรกฎาคมนี้ จะออกค้นหาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในหมู่บ้าน ทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ พร้อมแจกเอกสารคำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค หากพบป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที

วันนี้ (26 กรกฎาคม 2552) ที่จังหวัดนครราชสีมา นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเปิดการรณรงค์รู้ทันเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 และมอบนโยบาย อสม. ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในหมู่บ้าน/ชุมชน ลดการเสียชีวิต ที่โรงเรียนชุมชนประทาย อำเภอประทาย หอประชุมอำเภอโนนแดง อำเภอโนนแดง และโรงยิมเนเซียม เทศบาลตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง ซึ่ง อสม.จะออกปฏิบัติงานพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2552 นี้เป็นต้นไป

นายมานิต กล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้ ตอบสนองนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มอบหมายให้อสม. กว่า 980,000 คนทั่วประเทศและมีประจำทุกหมู่บ้าน เข้ามาเป็นกำลังเสริมในการคัดกรองผู้ป่วยในหมู่บ้าน/ชุมชน โดย อสม. จะออกเยี่ยมบ้านในความรับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน สัปดาห์ละ 3 วัน ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน ไต ผู้ที่อ้วน ผู้สูงอายุมากว่า 65 ปี เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ตามคู่มือของกระทรวงสาธารณสุข หากพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันทีพร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ส่วน อสม.จะติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ขณะนี้ได้แพร่ระบาดกระจายทั่วประเทศ และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการควบคุมการระบาด โดยการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ใช้หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยโรคทางเดินหายใจหรือต้องอยู่ในที่ชุมนุมชน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และมาตรการการรักษา ต้องรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วเพื่อลดการเสียชีวิตให้น้อยที่สุด โดยได้จัดทำคู่มือรักษาพยาบาลสำหรับแพทย์ทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน เน้นให้การรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย หรือผู้ที่ป่วยแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

เนื่องจากพบสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ประเด็นคือ พบผู้ป่วยกว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย ได้แก่ เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง อีกสาเหตุหนึ่งคือ เมื่อป่วยแล้วมาพบแพทย์ช้าเกินไป ทำให้โรคลุกลามไปมากจนไม่สามารถรักษาได้ ดังนั้นนโยบายระดมพลังอสม.ทั่วประเทศ ออกเยี่ยมบ้านเพื่อให้คำแนะนำการป้องกันโรค และค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านและชุมชนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากป่วยจะต้องให้พบแพทย์ทันที มั่นใจว่ามาตรการนี้จะสามารถลดการเสียชีวิตได้ นายมานิต กล่าว

******************************* 26 กรกฎาคม 2552

มานิต นำร่องล้างทำความสะอาดรถร่วมโดยสารประจำทาง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Friday, July 24, 2009 at 11:49 PM


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถร่วมโดยสารประจำทาง ล้างทำความสะอาดเบาะที่นั่ง ราวขึ้นลงที่ประตูและบานพับประตู ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และคืนกำไรสู่สังคม แนะผู้ป่วยไข้หวัดขณะโดยสารรถไปโรงพยาบาล ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือด้วยเจลหลังขึ้นลงรถ
วันนี้ (24 กรกฎาคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเยี่ยมชมการล้างทำความสะอาดรถบัส เพื่อรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่บริษัทพรีเมี่ยม แมนเนจเมนท์ จำกัด ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการว่า ในวันนี้ได้มาตรวจเยี่ยมอู่รถร่วมของขสมก. ซึ่งมีประมาณ 400 คัน ซึ่งบริษัทแห่งนี้นับเป็นแบบอย่างที่ดี เนื่องจากได้ทำความสะอาดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร โดยพนักงานจะทำความสะอาดเบาะที่นั่ง ราวขึ้นลงที่ประตูและบานพับประตูวันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นก่อนที่รถจะออกให้บริการจะฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ซึ่งรถทุกคันของบริษัทจะมีน้ำยาเจลล้างมือให้ผู้โดยสารกดทำความสะอาดขณะขึ้นลงรถ นับเป็นมาตรการหนึ่งที่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทรถร่วม อย่างน้อยก็เป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ แต่สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นห่วงมากคือ ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดหากจะโดยสารรถเพื่อเดินทางไปพบแพทย์ ควรจะสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลล้างมือในรถทุกครั้ง

นายมานิต กล่าวว่า ในส่วนของรถร่วมที่เป็นรถตู้ จะประสานงานอีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของจะมีประมาณ 2-3 คัน จะรวบรวมจำนวนจากแต่ละวินแต่ละคิวรถตู้ และจะขอความร่วมมือไปที่กรมการขนส่งทางบก ให้ช่วยรณรงค์ล้างทำความสะอาด เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯจากตัวอย่างการดำเนินงานของบริษัทรถร่วมในวันนี้ จะนำไปสู่รถอื่นต่อไป เช่น รถบขส. ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการทำความสะอาดไม่ว่าจะเป็นรถของหน่วยงานหรือรถของเอกชน เพราะรถสาธารณะเป็นจุดที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก เมื่อเอกชนเริ่ม 1 รายแล้ว คิดว่าบริษัทอื่นคงทำตาม เพราะเป็นสิ่งที่ต้องคืนกำไรสู่สังคม ช่วงนี้การแพร่กระจายเชื้อมีมาก คงต้องได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังได้ให้คำแนะนำผู้ประกอบการรถโดยสารว่า หลังจากที่รถเข้าจอดที่อู่จอดรถทุกครั้ง ควรให้พนักงานใช้ผ้าชุบผงซักฟอกเช็ดทำความสะอาดเบาะที่นั่ง ราวขึ้นลงที่ประตูและบานพับประตูก่อน อาจจะเช็ดวันละหลายครั้งก็ได้ นายมานิต กล่าว
********************************** 24 กรกฎาคม 2552

สธ.ส่งอสม.กว่า 9 แสนคน ออกค้นหาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในหมู่บ้าน เริ่มปฏิบัติการ 27 ก.ค.นี้ - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 11:48 PM

กระทรวงสาธารณสุข เสริมกำลัง อสม.กว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ รับมือการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ฯ ในหมู่บ้าน ชุมชน ลดการเสียชีวิต โดยให้อสม.ออกค้นหาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในหมู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ พร้อมแจกเอกสารคำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค หากพบป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที เริ่มปฏิบัติการพร้อมกันทั่วไทย 27 กรกฎาคม 2552 นี้เป็นต้นไป

วันนี้ (24 กรกฎาคม 2552) เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธาน อสม.ภาคกลาง ร่วมกันแถลงข่าว พลังอสม.ต้านภัยไข้หวัดใหญ่ 2009

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 อยู่ในขั้นที่มีการแพร่ระบาดกระจายทั่วประเทศ และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น นอกจากมาตรการควบคุมการระบาด โดยการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ใช้หน้ากากอนามัยเมื่อป่วยโรคทางเดินหายใจหรือต้องอยู่ในที่ชุมนุมชน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ อีกมาตรการที่สำคัญคือ การรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการเสียชีวิตให้น้อยที่สุด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับแนวทางการรักษาพยาบาล และจัดทำเป็นคู่มือสำหรับแพทย์ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน เน้นให้การรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย หรือผู้ที่ป่วยแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

นายวิทยา กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของไทย พบว่ามีสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต 2 เรื่องสำคัญ คือ เป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย ได้แก่ เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง พบกว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด อีกสาเหตุหนึ่งคือ เมื่อป่วยแล้วมาพบแพทย์ช้าเกินไป ทำให้โรคลุกลามไปมากจนไม่สามารถรักษาได้ ในการป้องกันปัญหาดังกล่าว มีนโยบายระดมพลังอสม.ทั่วประเทศ ออกเยี่ยมบ้านเพื่อให้คำแนะนำการป้องกันโรค และค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านและชุมชนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากป่วยจะต้องให้พบแพทย์ทันที มั่นใจว่ามาตรการนี้จะลดการเสียชีวิตได้ โดยจะเริ่มปฏิบัติการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2552 นี้เป็นต้นไป

ด้านนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ มีแนวโน้มกระจายไปสู่ครอบครัวและชุมชนต่างๆ จึงได้มอบหมายให้อสม. ซึ่งมีกว่า 980,000 คนทั่วประเทศและมีประจำทุกหมู่บ้าน เข้ามาเป็นกำลังเสริมในการคัดกรองผู้ป่วยในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยจะออกเยี่ยมบ้านในความรับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน สัปดาห์ละ 3 วัน ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน ไต ผู้ที่อ้วน ผู้สูงอายุมากว่า 65 ปี เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ตามคู่มือของกระทรวงสาธารณสุข หากพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ส่วนอสม.จะติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ

********************24 กรกฎาคม 2552

วิทยา กำชับโรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย สปสช. ให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ฯตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข - Influenza A(H1N1)

at 11:47 PM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กวดขันการให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในโรงพยาบาลเอกชนเครือข่าย สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกจังหวัดออกรณรงค์ให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

วันนี้(24 กรกฎาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังรณรงค์ปล่อยคาราวานรถยนต์ รณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่บริเวณ ริมเขื่อนท่าน้ำนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ว่า จากกรณีที่มีข่าวร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่า เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย สปสช. ทางโรงพยาบาลไม่ยอมให้ยาต้านไวรัสจนทำให้เสียชีวิตนั้น ในวันนี้ตนได้สั่งการให้นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับให้กวดขันเรื่องมาตรฐานการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และการให้ยาต้านไวรัส ของโรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย สปสช. ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และมอบหมายให้นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ทั้งในและนอกเครือข่าย สปสช. อีกด้วย

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในเรื่องการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ คณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการขอความร่วมมือประชาชน ในการตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรค ลดจำนวนผู้ป่วย โดยขอให้ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ให้หยุดพักที่บ้าน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่หยุดพัก เนื่องจากอาจจะกระทบกับรายได้บ้าง แต่ขอให้คำนึงถึงสุขภาพเป็นสำคัญ เพราะหลักสำคัญในการรักษาโรคนี้ นอกจากให้ยารักษาตามอาการแล้ว การพักผ่อนที่เพียงพอ การดื่มน้ำมากๆ เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เจ้าหน้าออกให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง กำชับให้ทุกจังหวัดอย่าละเลยการให้ความรู้ในการป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากโรค ในโรงเรียน โรงงาน สถานประกอบการ เป็นระยะๆ มั่นใจว่า ถ้าประชาชนทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค และให้ความร่วมมือทำตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ปัญหาการแพร่ระบาดก็จะลดลงและหมดไปในที่สุด
*********************************************** 24 กรกฎาคม 2552

วิทยาสั่งด่าน อย.ทั่วไทย จับตาการลักลอบนำเข้าไข่ไก่ปลอม และยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ปลอม ใกล้ชิด - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Thursday, July 23, 2009 at 11:38 PM

กระทรวงสาธารณสุข สั่งการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จับตาการลักลอบนำเข้ายาต้านไวรัสปลอมและไข่ไก่ปลอมเข้าประเทศ ให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบไข่ไก่ในท้องตลาดทั่วประเทศ พร้อมขอความร่วมมือกรมศุลกากรจับตาการลักลอบนำเข้า หากตรวจพบมีโทษจำคุก 6 เดือน 10 ปี และปรับ 5,000 100,000 บาท

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ กรณีมีข่าวไข่ไก่ปลอมทำจากสารเคมีอันตรายจากประเทศจีน ลักลอบวางจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพว่า จากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการส่วนประกอบของไข่ปลอมดังกล่าว พบว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อสุขภาพ และอาจมีอันตรายจากสารเคมีที่ใช้ด้วย

นายวิทยากล่าวต่อว่า ในวันนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบการนำเข้าไข่ไก่ปลอมจากต่างประเทศและในท้องตลาด และขอความร่วมมือกรมศุลกากรเฝ้าระวังใน 2 เรื่อง คือการนำเข้าไข่ไก่ปลอม และการนำเข้ายาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ปลอม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนไทย หากพบสิ่งของต้องสงสัยว่าจะเป็นไข่ไก่ปลอม หรือยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ปลอม ให้ส่งให้เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาประจำด่านศุลกากร เข้าตรวจสอบก่อนดำเนินพิธีการศุลกากรด้วย จากการสุ่มตรวจสอบไข่ไก่ในท้องตลาดเบื้องต้น ยังไม่พบมีการจำหน่ายไข่ไก่ปลอมในประเทศไทยแต่อย่างใด

ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้สั่งการให้ด่านอาหารและยาตามแนวพรมแดนทั่วประเทศ เฝ้าระวังและสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าไข่ไก่ปลอมและยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะไข่ไก่ปลอม จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างไข่ไก่ส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด จัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม มีโทษจำคุก 6 เดือน10 ปี และปรับ 5,000100,000 บาท ส่วนยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ปลอม ผู้ขายหรือนำเข้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,00010,000 บาท ผู้ผลิตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 50,000 บาท

นายแพทย์พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ไข่ไก่ปลอมนั้น จะไม่มีสารอาหารใดๆ ที่เป็นประโยชน์ทางโภชนาการต่อสุขภาพเลย และขณะนี้ประเทศไทยไม่มีการนำเข้าไข่ไก่จากจีนแต่อย่างใด มีนำเข้าเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม อย.จะเก็บตัวอย่างไข่ไก่ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นส่งตรวจวิเคราะห์ด้วย ส่วนวิธีการสังเกตว่าเป็นไข่ปลอมหรือไม่นั้น เท่าที่ทราบคือ เมื่อเขย่าไข่ไก่ปลอมจะรู้สึกเหมือนมีช่องว่างของน้ำในไข่ แต่ถ้าเป็นไข่ไก่ของแท้ เมื่อเขย่าจะรู้สึกแน่น ทั้งนี้ อย.จะตรวจสอบเฝ้าระวังในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้

*********************************** 23 กรกฎาคม 2552

วิทยา ติดตามระบบคัดกรอง และการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในรพ. - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Wednesday, July 22, 2009 at 11:38 PM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามระบบการคัดกรองผู้ป่วยและการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัด ให้โรงพยาบาลทุกแห่งส่งทีมออกให้ความรู้ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งคัดกรองเด็กป่วยในโรงเรียน สถานประกอบการ และสำรองยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลอย่างเพียงพอ แนะประชาชนทั่วไปหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ล้างมือให้สะอาด และใช้หน้ากากอนามัย

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ติดตามการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปใน 5 จังหวัด ได้แก่ รพ.ชัยนาท รพ.สวรรค์ประชารักษ์ รพ.สิงห์บุรี รพ.อ่างทอง และรพ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และรับฟังปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน

นายวิทยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ส่งทีมออกให้ความรู้ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งคัดกรองผู้ป่วยในโรงเรียน สถานประกอบการ ในโรงพยาบาลให้ตั้งจุดตรวจผู้ป่วยหรือสงสัยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แยกออกจากห้องตรวจโรคของผู้ป่วยทั่วไป ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service) เพื่อสามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต และป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยอื่นๆ ส่วนในด้านการรักษาพยาบาล ได้จัดส่งคู่มือแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศแล้ว เน้นการรักษาที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยง สามารถให้ยาต้านไวรัสได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการสำรองยาต้านไวรัส ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งให้จังหวัดต่างๆ แล้วประมาณ 2 ล้านเม็ด และมีสำรองอยู่อีก 12 ล้านเม็ด ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรมกำลังผลิตเพิ่มอีก 10 ล้านเม็ดภายในสัปดาห์นี้ โดยในส่วนภูมิภาค มีสำรองที่สำนักงานควบคุมป้องกันโรค 12 แห่ง ขั้นต่ำแห่งละ 10,000 เม็ด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งๆ ละ 4-5,000 เม็ด โรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งๆ ละ 2,000 เม็ด โรงพยาบาลอำเภอทุกแห่งๆ ละ 300 เม็ด ทั้งนี้ สามารถยืมยาระหว่างหน่วยงาน และเบิกยาจากส่วนกลางเข้าไปทดแทนได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอจนยาหมดหมด

สำหรับประชาชนทั่วไป ควรป้องกันไม่ให้ร่างกายรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และป้องกันไม่ให้ตนเองรับเชื้อเข้าร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ที่สถานที่แออัด ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ควรล้างมือบ่อยครั้ง สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการไอ หรือจามใส่คนอื่น เป็นต้น

********************************* 22 กรกฎาคม 2552

สธ.แนะให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หยุดพักอยู่บ้าน ลดการแพร่เชื้อทวีคูณ - Influenza A(H1N1)

at 11:37 PM

กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ พบผู้ป่วยยืนยันในรอบ 83 วัน ทั้งหมด 6,776 ราย รักษาหายแล้ว 6,697 ราย เสียชีวิต 44 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาลขณะนี้มีอาการหนัก 7 ราย ชี้แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรคกระจายไปต่างจังหวัด เข้มยุทธศาสตร์ลดการแพร่เชื้อทวีคูณ มุ่งลดการติดเชื้อในบ้าน ที่ทำงาน เน้นให้ผู้ที่มีอาการป่วยหยุดเรียนหยุดงานจนหายป่วย และให้การรักษาเร็ว ผู้ป่วยโรคนี้ 1 คนสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มได้ 2 คน

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โรงพยาบาลศิริราช รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ พญ.สยมพร ศิรินาวิน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พญ.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (Dr. Maureen Birmingham , WHO Representative to Thailand) นพ.ไมเคิล มาลิสัน (Dr. Michael Malison) ผู้แทนศูนย์ความร่วมมือควบคุมโรคไทย-สหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์ไวรัสวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า

จากการวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ พบว่าโรคได้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้ ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อเท่ากัน ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน-21 กรกฎาคม 2552 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทั้งหมด 6,776 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา โดยอาการหายเป็นปกติแล้ว 6,697 ราย กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล 35 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในภาวะวิกฤต 3 ราย เสียชีวิตสะสม 44 ราย โดยเป็นชายและหญิง 22 รายเท่ากัน อายุต่ำสุด 4 เดือน มากสุด 91 ปี เมื่อเปรียบเทียบในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 1621 กรกฎาคม 2552 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 20 ราย เฉลี่ยประมาณ 3 รายต่อวัน

ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด พบว่า 29 ราย หรือร้อยละ 66 มีโรคประจำตัว มากที่สุดคือโรคอ้วน และโรคเบาหวาน ร่วมกับความดันโลหิตสูงหรืออื่นๆ อย่างละ 6 ราย รองลงมาได้แก่ ไตวาย โรคหัวใจ และมะเร็ง อย่างละ 3 ราย ตั้งครรภ์ 2 ราย ที่เหลือเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ตับอักเสบเรื้อรัง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ปอดอักเสบติดเชื้อซ้ำ ร่างกายพิการ และเด็กเล็ก อย่างละ 1 ราย

มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มความเข้มข้นใน 5 เดือนจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี จะเน้นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่คนในครอบครัวและสถานที่ทำงาน ซึ่งจะรองรับมาตรการการหยุดงานหยุดเรียนจนหายป่วยของรัฐบาล ที่ให้พักรักษาตัวที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยให้แยกผู้ป่วยไม่ปะปนคนอื่น หรือแยกห้องได้ยิ่งดี ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ ส่วนคนอยู่ร่วมบ้านที่มีโรคประจำตัวต้องหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งจากการวิเคราะห์ทางวิชาการพบว่า ในระยะนี้การแพร่เชื้อของโรคนี้จะเพิ่มแบบทวีคูณ ผู้ป่วย 1 คนอาจแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 2 คนโดยเฉลี่ย หากสามารถสกัดกั้นจุดนี้ได้ ก็จะสามารถชะลอการแพร่เชื้อลงได้มาก

ส่วนยุทธศาสตร์การรักษา มุ่งเน้นรักษาเร็ว ในผู้ที่มีอาการรุนแรงและกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์ โรคอ้วน และเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ ซึ่งหลังติดเชื้อมีโอกาสอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งควรได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์โดยเร็ว สำหรับผู้ป่วยทั่วไป หากไข้ไม่ลดลงภายใน 48 ชั่วโมง สามารถให้ยารักษาอย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัสในสัปดาห์นี้ทั้งหมด 24 ล้านเม็ด กระจายให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันได้มุ่งป้องกันในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ เพื่อคงกำลังดูแลผู้ป่วยอย่างเพียงพอ และสั่งซื้อหน้ากากอนามัย 10 ล้านชิ้นเพื่อใช้ในสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ และประชาชนในต่างจังหวัดด้วย

ขอเน้นย้ำว่า หากประชาชนทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจป้องกันโรค โดยหมั่นล้างมือ ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม ผู้มีอาการป่วยควรใส่หน้ากากอนามัยตั้งแต่เริ่มมีอาการไข้หวัด รวมทั้งการร่วมมือกันทำความสะอาดเป็นพิเศษ ตามจุดที่มีการแพร่เชื้อได้ง่าย เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ ราวบันได โต๊ะประชุม แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ที่กดชักโครก ก๊อกน้ำอ่างล้างมือ โทรศัพท์สาธารณะ ที่นั่งและราวจับบนรถโดยสาร จะช่วยชะลอการแพร่เชื้อในประเทศได้ดีที่สุด โดยธรรมชาติของการระบาดใหญ่ ทั่วโลกจะไม่อาจหยุดยั้งได้ แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเต็มที่ จะสามารถชะลอและลดระดับการระบาดได้ ในขณะนี้หลายประเทศกำลังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกา และหลายประเทศที่เดิมยังไม่มีการระบาดก็เริ่มพบการติดเชื้อใหม่ เช่น ประเทศในแถบอาฟริกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อเมริกาใต้

*********************************** 22 กรกฎาคม 2552

มานิต ติดตามการจัดช่องทางพิเศษและการสำรองยารักษาไข้หวัดใหญ่ฯ ในโรงพยาบาล - Influenza A(H1N1)

at 11:36 PM


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จัดช่องทางพิเศษดูแลผู้ป่วยไข้หวัดโดยเฉพาะแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว และเพิ่มปริมาณสำรองยาต้านไวรัสทุกแห่ง ซึ่งองค์การเภสัชกรรมผลิตไว้แล้ว 24 ล้านเม็ด และผลิตได้ทันทีหากต้องการเพิ่ม พร้อมประสานภาคเอกชนช่วยกระจายคู่มือแนะนำประชาชนให้ทั่วประเทศ และเตรียมจัดทีมตรวจคัดกรองผู้มีไข้ที่เข้าชมการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยกับลิเวอร์พูลเย็นนี้ด้วย
วันนี้ (22 กรกฎาคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เดินทางไปติดตามการจัดช่องทางพิเศษในการคัดกรองโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และการสำรองยาต้านไวรัส ของโรงพยาบาลในสังกัด 5 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม และโรงพยาบาลศูนย์นครปฐม

นายมานิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศทุกระดับ จัดช่องทางพิเศษสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด แยกจากจุดบริการผู้ป่วยทั่วไป เป็นแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One Stop Service) ตั้งแต่การทำบัตร คัดกรอง ตรวจรักษา เอ็กซเรย์ ให้สุขศึกษา จ่ายเงิน รับยา ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยก่อนรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยแพร่เชื้อสู่คนอื่น หรือรับเชื้อจากผู้ป่วยอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มปริมาณการสำรองยาต้านไวรัส โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขต มีแห่งละ 20,000 เม็ด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แห่งละ 4,000 เม็ด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย แห่งละ 2,000 เม็ด และโรงพยาบาลชุมชน แห่งละ 300 เม็ด ส่วนโรงพยาบาลเอกชน สามารถสั่งซื้อจากองค์การเภสัชกรรมได้ ซึ่งขณะนี้ผลิตไว้แล้ว 24 ล้านเม็ด และจะติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากมีแนวโน้มไม่เพียงพอ สามารถผลิตเพิ่มได้ทันที

นายมานิต กล่าวต่อว่า เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ จึงแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว ได้กำชับเจ้าหน้าที่ซักประวัติผู้ป่วยให้ละเอียด เพราะบางครั้งอาจไปรักษาที่คลินิกก่อน อาการไม่ดีขึ้นค่อยมาโรงพยาบาล จึงทำให้ล่าช้า อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่คลินิกมักเป็นคนเดียวกันกับแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ส่งให้แพทย์ในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศแล้ว จึงมั่นใจว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยจากนี้ไป จะมีความรัดกุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขยังได้ประสานกับภาคเอกชนต่างๆ ร่วมกันรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากห้างเซ็นทรัลทุกสาขา ท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต และโรบินสันทุกสาขา จัดให้พนักงานเก็บเงินช่วยแจกคู่มือประชาชน เมื่อไหร่ให้ไปหาหมอ ซึ่งเป็นคำแนะนำง่ายๆ ให้ประชาชนระมัดระวังตัวและไปพบแพทย์ทันทีเมื่ออาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ ในช่วงเย็นวันนี้ จะไปติดตามการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนและจุดตรวจคัดกรอง ที่สนามรัชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติไทยกับทีมลิเวอร์พูล เพื่อคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยไข้หวัด ไม่ให้เข้าไปแพร่เชื้อในสนามกีฬาด้วย โดยได้ประสานทีมผู้จัดการแข่งขัน ให้มีการคืนเงินให้กับผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้าชมแล้ว
********************************** 22 กรกฎาคม 2552

สธ. จัดประชุมทางไกลขอความร่วมมือผู้ว่าราชการฯ เรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 11:35 PM


กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานศูนย์ปฏิบัติการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1ระดับจังหวัด ให้มีการประชุมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 3 ครั้ง ดำเนินการในพื้นที่ประสานกันเป็นเครือข่ายอย่างเข้มข้น เพื่อชะลอการระบาดของโรค
วันนี้ (22 กรกฎาคม 2552) ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมชี้แจงมาตรการเร่งด่วนในการคัดกรองผู้ป่วย การป้องกัน การดูแลและรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุข แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ

นายวิทยา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งจะต้องดำเนินการร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์โรคได้แพร่ระบาดไปยังภูมิภาค ประชาชนทุกคนมีความเสี่ยงติดเชื้อเท่ากัน มาตรการการจัดการโรคจึงต้องอาศัยความร่วมมือ จากทุกภาคส่วน ทั้งในเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อชะลอการแพร่เชื้อ การป้องกันการแพร่เชื้อ การดูแลรักษาผู้ป่วยให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ มั่นใจว่าหากดำเนินการอย่างเป็นเครือข่ายและสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน จะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้

ประเด็นที่ได้เน้นย้ำในที่ประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ได้ขอความร่วมมือให้แต่ละจังหวัดเปิดศูนย์ปฏิบัติการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และให้มีการประชุมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 3 ครั้ง พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของแต่ละจังหวัดให้คัดกรองเด็กนักเรียนป่วยและการคัดกรองผู้ป่วยทั่วไป ทั้งในโรงพยาบาล สถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงงาน เพื่อแยกผู้ป่วยให้หยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนอื่น ซึ่งในส่วนของผู้ปกครองเด็กนักเรียนและผู้ใช้แรงงาน หากป่วยหรือต้องดูแลลูกที่ป่วย สามารถหยุดงานได้โดยไม่ถือเป็นวันลาและไม่เสียสิทธิใดๆ 2.เร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆของแต่ละจังหวัด เช่น หอกระจายข่าว วิทยุหลัก วิทยุชุมชน เป็นต้น ให้ประชาชนทราบถึงอาการ การดูแลตนเองขณะเจ็บป่วย ตลอดจนรณรงค์ให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยอยู่บ้านจนครบ 7 วัน นับตั้งแต่วันแรกที่มีไข้

3.ในส่วนของจังหวัดที่มีการระบาดของโรคค่อนข้างมากควรเลื่อนการจัดงานมหรสพ หรือกิจกรรมที่มีคนมารวมกันเป็นจำนวนมากหากเลื่อนไม่ได้ควรมีมาตรการป้องกันการติดต่อของโรค 4.ใช้มาตรการทางกฎหมายผ่านข้อบัญญัติแต่ละท้องถิ่นในการดูแลความสะอาดสถานที่ต่างๆ เช่น ตลาด โรงเรียน โรงฆ่าสัตว์ ศูนย์การค้า สถานบันเทิง ร้านเกมส์ และ 5.ให้แต่ละจังหวัดประเมินผลการระบาดของโรค โดยวัดจากอัตราป่วยและผู้เสียชีวิตเทียบกับจำนวนประชากรแต่ละจังหวัดเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะส่งรายงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกสัปดาห์
****************************22 กรกฎาคม 2552

สธ. พิมพ์คู่มือ รู้ทันหวัด 2009 เมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ แจกเซเว่น 5,000 สาขาทั่วประเทศ - Influenza A(H1N1)

Monday, July 20, 2009 at 11:35 PM

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จัดพิมพ์บัตร รู้ทันหวัด 2009 เมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ ฉบับพกพา จำนวน 3 ล้านฉบับ วางแจกประชาชนในร้านเซเว่น อีเลเว่น 5,000 สาขาทั่วประเทศ เทสโก้โลตัส ในเครือเซ็นทรัล โรบินสัน ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต แนะนำอาการที่ต้องพบแพทย์ด่วน การใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรบรรเทาอาการหวัด และการใช้หน้ากากอนามัย นอกจากนี้ยังมีหน้ากากอนามัยผ้า จากสินค้าโอท็อป จำหน่ายราคาถูกด้วย

บ่ายวันนี้ (20 กรกฎาคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปแจกบัตรพกพา รู้ทันหวัด 2009 เมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ ที่ร้านเซเว่น อีเลเว่น บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ และแจกหน้ากากอนามัยผ้า สำหรับเป็นตัวอย่างจำหน่ายในราคาถูกต่อไป
นายมานิต กล่าวว่า ในการให้ข้อมูลความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แก่ประชาชน ให้ง่ายต่อความเข้าใจยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำบัตรพกพา รู้ทันหวัด 2009 เมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ สำหรับแจกประชาชนที่ไปซื้อของในร้านเซเว่น อีเลเว่น จำนวน 5,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนไปซื้อของประมาณวันละ 5 ล้านคน และเทสโก้โลตัส ในเครือเซ็นทรัล โรบินสัน ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต พิมพ์ทั้งหมด 3 ล้านฉบับ โดยได้ประสานงานกับนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด มหาชน ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลเว่นไว้แล้ว ซึ่งบัตรพกพาดังกล่าวนี้ จะส่งถึงร้านเซเว่น อีเลเว่นในต่างจังหวัดวันจันทร์สัปดาห์หน้า ส่วนในกรุงเทพและปริมณฑลคาดว่าจะแจกได้ใน 1-2 วันนี้ นอกจากนี้ได้ประสานงานกับกลุ่มสินค้าโอท็อปจากจังหวัดต่างๆ ทำหน้ากากอนามัยที่ตัดเย็บด้วยผ้า มาจำหน่ายในราคาถูกด้วยที่ร้านเซเว่นฯอีกด้วย

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า บัตรพกพาดังกล่าว พิมพ์ด้วย 4 สี ขนาดกว้าง 8.5 เซนติเมตร ยาว 14 เซนติเมตร มีรายละเอียดข้อความสั้นๆ มี 2 ส่วน ส่วนแรกจะแจ้งอาการป่วยของไหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ คืออาการหลักๆ ประกอบด้วย ไข้ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ฯลฯ คำแนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ต้องพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด หอบหืด และหอบหืด เป็นต้น โรคอ้วน หญิงมีครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เอดส์ มะเร็ง ฯลฯ และคำแนะนำประชาชนทั่วไป ที่มีอาการเล็กน้อย พักรักษาตัวและทานยาอยู่ที่บ้าน และอาการหนักคืออาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ไข้ไม่ลด ซึม เหนื่อยหอบ ฯลฯ ถือว่าอาการหนัก ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

ส่วนที่ 2 จะเป็นข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจใช้สมุนไพรไทย ฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้หวัดได้ แนะนำวิธีการใช้ทั้งแบบบรรจุเสร็จและชนิดสด โดยชนิดบรจุเสร็จให้รับประทานคือครั้งละ 4 เม็ด หลังอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน ซึ่งยานี้สามารถใช้ร่วมกับยาพาราเซตามอลลดไข้ได้ ส่วนใบสด ใช้ประมาณ 1 กำมือ ล้างสะอาด ต้มกับน้ำ 10-15 นาที ดื่มหลังอาหาร 3 มื้อและก่อนนอนเช่นกัน โดยไม่ควรใช้นานเกิน 7 วัน และมีการเชิญชวนให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า ซึ่งทำได้เอง ซักง่าย ใช้สะดวก และควรมีคนละ 2 ชิ้น

************************************************** 20 กรกฎาคม 2552

สธ.ส่งคู่มือรักษาให้แพทย์โรงพยาบาลรัฐเอกชนทั่วประเทศ 60,000 ฉบับ วันนี้ - Influenza A(H1N1)

at 11:34 PM

กระทรวงสาธารณสุขจัดพิมพ์คู่มือการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว 60,000 ฉบับ เริ่มส่งให้วันนี้ ขณะเดียวกันจัดพิมพ์คู่มือประชาชนฉบับกระเป๋า แนะวิธีป้องกันและดูแลตนเองเมื่อป่วยอีก 4,000,000 ฉบับ พร้อมวางแจกในกทม.วันนี้ ชี้สถานการณ์แพร่ระบาดขณะนี้ แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง

เช้าวันนี้ (20 กรกฎาคม 2552) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานครฯ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 8 เพื่อกำหนดทิศทางหลักสูตรการศึกษาทางการแพทย์ และสร้างจิตวิญญาณของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย ว่า เรื่องเร่งด่วนที่เป็นเรื่องใหม่ของวงการแพทย์ขณะนี้คือ การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับอาจารย์แพทย์จากสถาบันแพทยศาสตร์ศึกษาต่างๆ จัดทำคู่มือทางการแพทย์ เพื่อเป็นกรอบแนวในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ว่าจะได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดจากโรงพยาบาลทุกแห่ง ขณะนี้จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว 60,000 เล่ม จะทยอยส่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของประชาชน ได้จัดทำคู่มือคำแนะนำประชาชนเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ฉบับพกพา เพิ่มอีก 4,000,000 ฉบับ เป็นคำแนะนำให้ประชาชนรู้จักโรค วิธีป้องกันตนเอง การปฏิบัติตัวเมื่อป่วย ที่เข้าใจง่าย จะเริ่มแจกวันนี้ในเขตกทม. โดยวางในโรงพยาบาลทุกแห่ง ในต่างจังหวัดจะเริ่มส่งให้ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลทุกระดับ สถานีอนามัยทุกแห่ง ศาลากลางจังหวัด รวมทั้งร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา

นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานได้ประสานความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อป้องกันบุคลากรของทั้ง 3 กระทรวง ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยจำกัดพื้นที่การระบาดและลดจำนวนผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง โดยจะหารือกันในบ่ายวันนี้ สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในรอบ 2-3 วันนี้ มีแนวโน้มลดลง เช่นที่ โรงพยาบาลราชวิถีจำนวนผู้ป่วยที่มารักษาลดจากช่วงแรกที่เพิ่มเป็นเท่าตัวลงมาใกล้ระดับปกติ คาดว่าเป็นผลมาจากประชาชนเริ่มมีความเข้าใจโรคนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการแถลงจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขจะรวบรวมตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยจากทั่วประเทศ และแถลงสัปดาห์ละครั้ง ตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง

************************************** 20 กรกฎาคม 2552





มานิต ประสาน เซเว่นฯ กว่า 5,000 สาขา กระจายหน้ากากอนามัยโอท็อป ซื้อได้ 24 ชั่วโมง - Influenza A(H1N1)

at 11:33 PM


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้ประชาชนไทยใช้หน้ากากผ้า ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ หนุนแม่บ้านโอท็อบทุกจังหวัดผลิตหน้ากากอนามัยมาตรฐานคุณภาพดีขาย พร้อมประสานร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่มีกว่า 5,000 สาขาทั่วประเทศ ช่วยกระจายสินค้าซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดสายด่วนไข้หวัดใหญ่ ให้คำปรึกษาประชาชนที่ป่วยและอาการไม่รุนแรง ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 95 ของผู้ป่วย ในการดูแลตนเองที่บ้านหรืออาการที่ต้องพบแพทย์รักษาทันที
เช้าวันนี้ (20 กรกฎาคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เดินทางไปแจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ เอกสารแผ่นพับคำแนะนำในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่ตลาดปากท่อ อ.ปากท่อ และที่วัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยและล้างมือเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่

นายมานิต กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้สำเร็จ การแพร่กระจายของเชื้อโรคกระจายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งแนวโน้มของประเทศไทยก็เช่นกัน ซึ่งในที่สุดจะมีผู้ป่วยทุกจังหวัด มาตรการรับมือที่สำคัญขณะนี้คือ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย ต้องได้มาตรฐาน รวดเร็วและเพียงพอ และการลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยใช้เครื่องมือที่ไม่ใช่ยาป้องกัน ได้แก่ หน้ากากอนามัยและการล้างมือ กำจัดเชื้อที่ติดมากับมือหลังจากสัมผัสสิ่งของต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ทำได้ 2 วิธีคือ การล้างสบู่ และล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์

นายมานิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้หน้ากากอนามัยชนิดกระดาษที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อาจมีปัญหาไม่เพียงพอ เพราะความต้องการมีมาก กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานแม่บ้านโอท็อป จัดทำหน้ากากอนามัยชนิดผ้าตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ออกจำหน่ายในแต่ละจังหวัด เพราะใช้แล้วซักทำความสะอาดได้ และใช้ได้หลายครั้งจนกว่าจะชำรุด ขณะนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากจากผู้บริหารร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งมีกว่า 5,000 สาขาทั่วประเทศ ยินดีรับและเป็นจุดวางจำหน่ายหน้ากากอนามัยจากโอท็อป ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถซื้อหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่อาการไม่รุนแรง เมื่อป่วยแล้วสามารถพักรักษาอาการอยู่ที่บ้านได้ ซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายเองได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มใหญ่มีจำนวนประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วย หากได้รับคำแนะนำการดูแลอย่างดีแล้ว มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาอาการแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้น หรือหากมีก็จะได้รับคำแนะนำให้ไปพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงที มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดสายด่วนไข้หวัดใหญ่ ให้คำปรึกษาประชาชนที่สงสัยว่าตนเองป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เพื่อแนะนำอาการที่ต้องไปพบแพทย์ทันที หรือดูแลตนเองที่บ้าน รวมทั้งโทรศัพท์ติดตามอาการผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่ได้รับการตรวจหรือจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว รวมทั้งการกินยาต้านไวรัสให้ครบตามแพทย์สั่ง โดยให้ติดตามอาการทุกวันเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติม จนกว่าอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้น ซึ่งจะป้องกันอาการแทรกซ้อนรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง

****************************** 20 กรกฎาคม 2552

สธ.คาดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่2009 พร้อมทดลองในเดือนสิงหาคมนี้ - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Sunday, July 19, 2009 at 11:33 PM

กระทรวงสาธารณสุข คาดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ไทยผลิตเอง ล็อตแรกจะดำเนินการทดลองตามหลักวิชาการในต้นเดือนสิงหาคม 2552 นี้ ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการวิจัยทดลอง 3 ชุด แจงงบ 600 ล้านบาทเป็นงบซื้อวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากต่างประเทศ ไม่ใช่งบลงทุนผลิตวัคซีน และในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2552 จะแจกคู่มือไข้หวัดใหญ่ฉบับพกพาให้ประชาชนอีก 4 ล้านเล่มแจกทุกจังหวัด และวางที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ศาลากลางจังหวัด โรงพยาบาล สถานีอนามัย

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อติดตามมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอเอช1 เอ็น 1 เมื่อเช้าวันนี้ ( 19 กรกฎาคม 2552 )ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่าการประชุมในครั้งนี้ ได้ติดตามมาตรการความคืบหน้าการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ใน 4 ประเด็น ได้แก่วัคซีน ประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ในรายที่มีอาการรุนแรง และในรายที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง เพื่อให้ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลแล็ป การจัดทำคู่มือประชาชนในการป้องกันโรค รวมทั้งการติดตามข้อเสนอแนะต่างๆที่ประชาชนและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนะ หรือให้คำแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข

ในส่วนประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลประชาชนที่ป่วย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ไปให้โรงพยาบาลต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนทุกจังหวัด ลงไปถึงระดับโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งอย่างเพียงพอ ขณะนี้มียาสำรองในระบบแล้ว 14 ล้านเม็ด และหลังจากปรับมาตรการรักษาแล้ว ได้ให้องค์การเภสัชกรรมสั่งวัตถุดิบเพื่อผลิตยาดังกล่าวอีก 10 ล้านเม็ดในสัปดาห์หน้า รวมแล้วมียาสำรองในระบบทั้งสิ้น 24 ล้านเม็ด วัตถุดิบจะมาถึงไทยวันพุธหน้า และใช้เวลาบรรจุ 3-5 วัน ก็จะจัดส่งไปยังสถานพยาบาลต่างๆได้ ยามีเพียงพอ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้

นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข โดยมาตรการควบคุมแก้ไขที่กระทรวงฯได้ดำเนินการที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้ยึดตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำตั้งแต่พ.ศ.2549 และองค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งได้ปรับตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโรคตลอดเวลา

นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ว่า การผลิตวัคซีนดังกล่าว เป็นการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนไทยและความมั่นคงของประเทศไทยในการป้องกันโรคติดต่อ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการดูแลประสิทธิภาพความปลอดภัยของวัคซีนอย่างรัดกุมที่สุดตามหลักวิชาการและมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก มี 3 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการทดลองในคน คณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนวัคซีน และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตวัคซีน ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญองค์การเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าวัคซีนต้นแบบล็อตแรก จะออกมาช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2552 จากนั้นก็จะทดลองประสิทธิภาพในความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง และทดลองในคนต่อไปตามขั้นตอนของหลักสากล หากไม่ได้ผลหรือไม่มีความมั่นใจ จะไม่มีการนำมาใช้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ประเด็นการใช้เงิน 600 ล้านบาท ที่หลายฝ่ายเข้าใจว่าเป็นการลงทุนผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ยืนยันว่าเงินดังกล่าว เป็นเงินที่สั่งจองซื้อวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯจำนวน 2 ล้านโดส ที่ผลิตในต่างประเทศ จากบริษัทซาโนฟี่ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก โดยวัคซีนดังกล่าวจะส่งถึงไทยในเดือนธันวาคม 2552 นี้

ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตตรงไปตรงมา ไม่เคยปกปิดข้อมูลใดๆทั้งสิ้น และยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกในฐานะประเทศสมาชิก ส่วนการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการนั้น ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจได้ทุกแห่งและเพียงพอแล้ว โดยในการตรวจนั้นจะใช้ประโยชน์ใน 2 เรื่องที่มีความสำคัญคือตรวจในรายผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเพื่อให้รู้แน่นอน เป็นประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล และตรวจเพื่อติดตามเฝ้าระวังและกำกับสถานการณ์การควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่

แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในส่วนมาตรการชะลอการแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ได้มีหนังสือสั่งการกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดดำเนินการตรวจคัดกรองเด็กที่ป่วยในโรงเรียนทุกแห่งทั้งรัฐเอกชนและติดตามต่อเนื่องทุกวัน เป็นมาตรการเหมือนกันทั่วประเทศ หากพบเด็กป่วย ให้หยุดเรียนและอยู่ที่บ้านจริงๆ แทนการปิดโรงเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองดูแล จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งวิธีนี้นับว่าดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด รวมทั้งกิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาดโรงเรียน สถานบันเทิง โรงงาน การสำรวจความเพียงพอของอ่างล้างมือของโรงเรียน และให้ส่งรายงานผลการปฏิบัติให้ศูนย์อำนวยการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขทุกวัน

ขณะเดี่ยวกันกระทรวงสาธารณสุขได้แจกปรอทวัดไข้ให้ อสม.ทั่วประเทศ ทำการคัดกรองผู้ที่มีไข้ในหมู่บ้าน เพื่อส่งตัวเข้าดูแลต่อที่สถานพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและถูกต้อง และมอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดพิมพ์คู่มือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฉบับประชาชน แบบพกพาได้ จำนวน 4 ล้านฉบับ โดยจะเริ่มจัดส่งไปกทม. ในวันจันทร์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2552 นี้ เพื่อให้อสม.นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป และอาจแจกที่ร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น ด้วย วางที่ศาลากลางจังหวัด โรงพยาบาล สถานีอนามัยทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลตนเองมากยิ่งขึ้น

************************************ 19 กรกฎาคม 2552

สธ. เผยผลสำรวจประชาชนพึงพอใจการให้บริการคลินิกโรคทางเดินหายใจสูงถึงร้อยละ 80 - Influenza A(H1N1)

Saturday, July 18, 2009 at 11:32 PM

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจพบประชาชนพึงพอใจการให้บริการผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ในคลินิกโรคทางเดินหายใจแบบศูนย์เบ็ดเสร็จ One Stop Service ในโรงพยาบาล สูงถึงร้อยละ 80

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมการให้บริการตรวจผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจไปยังกลุ่มผู้ป่วยนอกอื่นๆ และเพื่อสามารถให้บริการผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจได้อย่างรวดเร็ว และสามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่น คนอ้วน เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคเลือด ให้ได้รับบริการอย่างรวดเร็ว รวมทั้งถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะได้รับการดูแลเบื้องต้นและรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในต่อไป ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี และโรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

นายมานิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ขยายไปในหลายประเทศทั่วโลกจนได้รับรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน สำหรับประเทศไทยปัจจุบันพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานศึกษา ค่ายทหาร เรือนจำ และในครอบครัวและคาดว่าจะมีการแพร่ระบาดไปทุกจังหวัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อและการติดเชื้อในสถานพยาบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาลด้วย

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้โรงพยาบาลตั้งจุดตรวจผู้ป่วยที่เป็นหวัดหรือสงสัยไข้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แยกออกจากห้องตรวจโรคทั่วไปหรือโอพีดี เป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีผู้คนพลุกพล่าน สะดวกในการขนส่งผู้ป่วยและสามารถเคลื่อนย้ายเอกซเรย์เคลื่อนที่เข้ามาถึงได้โดยง่าย โดยจัดระบบเป็น One Stop Service ในพื้นที่เดียวกัน ตั้งแต่การทำบัตร คัดกรอง ตรวจรักษา เอ็กซเรย์ ให้สุขศึกษา จ่ายเงินและรับยา รวมทั้งสถานที่ดูแลผู้ป่วยก่อน admit เป็นผู้ป่วยใน เป็นต้น

หลังจากได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่ง มีผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มารับบริการคลินิกโรคทางเดินหายใจ ของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 80.57 แยกเป็นความพึงพอใจต่อกระบวนการ/ขั้นตอนการให้บริการร้อยละ 79 พึงพอใจต่อเจ้าหน้าที่ให้บริการร้อยละ 83 ต่อสิ่งอำนวยความสะดวกร้อยละ 79 และพึงพอใจต่อผลของการให้บริการร้อยละ 83

นายมานิต กล่าวอีกว่า ในการตั้งศูนย์แบบ One Stop Service ในสถานพยาบาลนี้ สถานที่ตรวจควรเป็นห้องที่โล่งที่มีการระบายอากาศตามธรรมชาติได้ จัดให้มีทิศทางลมให้พัดจากบุคลากรสู่ผู้ป่วยและระบายออกภายนอกหรือให้มีพัดลมระบายอากาศช่วย มีอ่างล้างมือ และน้ำยาล้างมือแห้งอย่างเพียงพอ จัดระบบการตรวจรักษาผู้ป่วยโดยคำนึงถึงความรุนแรงของอาการ ควรจัดแยกพื้นที่ สำหรับผู้ป่วยอาการหนักแยกจากผู้ป่วยอาการน้อย ผู้ป่วยที่มีอาการมากหรือรุนแรงต้องให้ได้รับการดูแลรักษาก่อน นอกจากนี้ผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการตรวจทุกราย ควรได้รับหน้ากากอนามัย และน้ำยาล้างมือแห้ง (เจลล้างมือ) นอกเหนือจากยาที่จำเป็นอื่นๆ ตามอาการ

********************************************** 18 กรกฎาคม 2552

สธ. แนะคนไทยออกกำลังกาย สร้างภูมิต้านทานโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แทนพึ่งวัคซีน - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Friday, July 17, 2009 at 11:31 PM

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะคนไทยที่ยังไม่ป่วย ให้ออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 5 วันๆละ 30 นาทีอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการสร้างภูมิต้านทานโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯในร่างกายได้ และลดโอกาสติดเชื้อไวรัสและแบคที่เรียได้อย่างดี โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีน ชี้การออกกำลังกายแต่ละครั้งอย่าหักโหม เพราะมีผลช่วยเสริมฤทธิ์ระบบภูมิต้านทานโรคในการเฝ้าระวังดักจับกินเชื้อโรค ไม่ให้โจมตีร่างกาย

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ว่า โรคนี้สามารถป้องกันได้ 2 วิธีคือ การฉีดวัคซีนและการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งระบบภูมิต้านทานโรคที่ประชาชนมีอยู่ทุกคนอยู่แล้ว แต่อาจมากน้อยแตกต่างกันตามระดับความแข็งแรงและอายุ จึงแนะนำให้ประชาชนไทยที่ไม่เจ็บป่วยใดๆ ใช้วิธีการออกกำลังกายแทนการพึ่งวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งวิธีนี้ทำได้ง่ายและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า จากการทบทวนวิชาการ พบการออกแรงหรือออกกำลังกาย จะช่วยสร้างภูมิต้านทานได้ดี ลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจได้ โดยต้องออกกำลังแบบแอโรบิค ด้วยความแรงระดับปานกลาง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิต้านทานในทางที่ดีขึ้น การออกกำลังแต่ละครั้งก็ช่วยเสริมฤทธิ์ของระบบภูมิต้านทานในการเฝ้าระวังดักจับกินเชื้อโรค ซึ่งในระยะยาวปรากฏว่าช่วยลดโอกาสของการติดเชื้อลงได้ ตรงกันข้ามหากออกกำลังหักโหมหรือรุนแรง หรือออกกำลังเป็นเวลานานกว่า 90 นาที จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเครียดและสารซัยโตคายน์ (Cytokines) ซึ่งมีฤทธิ์กดภูมิต้านทานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายลดลง โดยจะลดลงภายหลังออกกำลังกายอย่างหักโหมประมาณ 3-72 ชั่วโมง ทำให้เกิดช่องว่างที่เชื้อไวรัสและแบคทีเรียรุกเข้าโจมตีร่างกายได้ง่าย

นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ป่วยหรือมีไข้ อดนอน กินอาหารไม่ได้ ไม่ควรออกกำลังกาย เนื่องจากกำลังอยู่ในภาวะที่ร่างกายต่อสู้กับโรคภัย หากออกกำลังกายเสริมไปอีก จะเป็นการเพิ่มความเครียดให้ร่างกาย ทำให้หัวใจ ปอดทำงานหนักขึ้น ทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย

ทั้งนี้ประชาชนทุกเพศทุกวัย สามารถออกกำลังกายได้หลายวิธี ได้แก่ การออกกำลังแบบแอโรบิค อย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบภูมิต้านทานของร่างกายในการต้านทานเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งสามารถทำได้เองหรือรวมเป็นกลุ่มก็ได้ หรือใช้วิธีการเดินในระยะทาง 4,00 เมตร ให้ได้ 6 - 7 รอบภายในเวลา 30 นาที ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลัง ควรเริ่มเดินประมาณ 5-10 นาที ประมาณ 3 วันต่อสัปดาห์แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาต่อวันในแต่ละสัปดาห์ขึ้นเรื่อย ๆ แล้วจึงค่อย ๆเพิ่มความเร็ว จนท้ายที่สุดสามารถสาวเท้าเดินเร็วได้ 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังนอกจากช่วยเสริมระบบภูมิต้านทานแล้ว ยังช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และเต้านม น้ำหนักเกินและอ้วน และยังช่วยให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมีสุขภาพดีขึ้นและควบคุมอาการโรคได้ด้วย

นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่หลากหลายและได้สัดส่วน การลดความเครียด การหลีกเลี่ยงภาวะร่างกายอ่อนล้าเรื้อรัง และการนอนหลับที่พอเพียง เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเสริมระบบภูมิต้านทานด้วย นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำเกินไป และการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้ระบบภูมิต้านทานลดลง จึงควรลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป
Thai Health Article (Thailand) | RSS Subscribe | Go to top