พบ"คนอ้วน"เสี่ยงตายจากเชื้อไข้หวัด2009 - Influenza A(H1N1)

Thursday, June 25, 2009 at 6:20 PM

วันที่ 25 มิถุนายน 2552

คมชัดลึก : สธ.พบผู้ป่วยหวัดใหญ่ 2009 เพิม 69 ราย ส่งผลยอดทะลุหลักพัน แต่รักษาหายเกือบหมดแล้ว ด้าน "หมอทวี" เผยหลังร่วมประชุมองค์การอนามัยโลก พบข้อมูล "คนอ้วน" เสี่ยงตายจากเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่

ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ใน วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 69 ราย เมื่อรวมกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้จำนวน 985 ราย ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 1,054 ราย หายเป็นปกติแล้ว 1,037 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 17 รายเท่านั้น ทุกรายมีอาการดีขึ้น

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเดินทางไปร่วมประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดทำแนวทางการดูแลรักษาทางด้าน ยาสำหรับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่องค์การอนามัยโลก นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีประเทศพัฒนาแล้วได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และประเทศกำลังพัฒนาอีก 2 ประเทศได้แก่ ไทย และเม็กซิโก เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้หารือ 2 ประเด็นหลักได้แก่การรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ด้วยยาต้านไวรัสที่เหมาะสม และการรับมือปัญหาดื้อยาในอนาคต

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า ผลการประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า องค์การอนามัยโลกจะจัดทำไกด์ไลน์ หรือ แนวทางการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รักษาผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ โดยการให้ยาต้านไวรัสจะให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซึ่งมีร้อยละ 1-2 และใช้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ป่วยสูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด ที่เหลือไม่จำเป็นต้องใช้ยา

และการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รักษาต้องใช้อย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น โดยเริ่มต้นตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น ผู้ป่วยอาการรุนแรง คือ มีอาการปอดบวม ซึม หรือมีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ป่วยที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการให้ยาในประเทศไทยที่เดินมาถูกทางแล้ว ส่วนการรับมือเชื้อดื้อยานั้น ที่ประชุมก็มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกจะขอความร่วมมือให้ประเทศต่าง ๆ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของไวรัสในประเทศเป็นระยะ ๆ ว่ามีการดื้อยาหรือเชื้อรุนแรงขึ้นหรือไม่

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับคนที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่และมีอาการน้อย ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ และการรักษาไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ แต่แนะนำให้พักผ่อนอยู่กับบ้าน หาก 3 วันไข้ไม่ลดจึงมาพบแพทย์ ทั้งนี้มีข้อมูลพบว่า การให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์นั้นช่วยลดอาการไข้ลงได้เพียง 1 วัน และช่วยลดจำนวนเชื้อลงเท่านั้น แต่คนรับประทานยาอาจได้รับผลผลข้างเคียงจากยาเช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ส่วนวัยรุ่นที่ใช้ยาอาจทำให้จิตหลอน ภาพหลอน ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นกำลังรื้อข้อมูลมาศึกษาใหม่ โดยมีแนวโน้มว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจจะมิใช่เรื่องจริง แต่ทางสหรัฐฯก็ยังมีคำเตือนในเรื่องนี้อยู่

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า จากการประชุมทราบว่า ขณะนี้ทางสหรัฐฯและอังกฤษไม่ได้ใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ที่สนามบินแล้ว รวมทั้งการให้ผู้เดินทางกรอกประวัติในใบ ต. 8 ก็ใช้ไม่ได้ผลเช่นกัน แต่จะเน้นที่การรักษาแทน และใน1-2 สัปดาห์นี้ทางสหรัฐฯจะเลิกรายงานตัวเลขผู้ป่วย แต่ในส่วนของประเทศไทยที่มีการระบาดหลังจากสหรัฐฯคงจะไม่ยกเลิกการรายงานผู้ ป่วยตามสหรัฐฯ โดยทันที คงต้องมีการประเมินสถานการณ์กันก่อน และยังจะคงมาตรการตรวจยืนยันผู้ป่วยต่อไป

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยกันถึงกรณีที่มีการระบาดในเม็กซิโก แล้วมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก พบว่า มีปัจจัยมาจาก คนไข้ไปพบแพทย์ช้า มีร่างกายแตกต่างจากคนอื่น ๆ คือ เป็นโรคอ้วน ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต สูงกว่าคนร่างกายปกติ ดังนั้นคงต้องมีการพิจารณาต่อไปว่า ในคนที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักมากกว่าคนปกติเป็น 2 เท่า เช่น คนปกติหนัก 60 กก. แต่คนอ้วนหนัก 120 กก. ดังนั้นจำเป็นหรือไม่ที่จะให้ยาต้านไวรัสแก่คนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า ในคนที่เสียชีวิต 100 กว่าคนทั่วโลกนั้น พบว่ากว่า 60 % มีโรคประจำตัว ทำให้ภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ โดยเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน แต่เมื่อมีโรคประจำตัว ภูมิต้านทานต่ำ เชื้อไวรัสจะลงไปที่ปอด ทำให้เกิดภาวะปอดบวม

เมื่อถามว่า ขณะนี้ทราบหรือยังว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่มีต้นตอการระบาดจากที่ใด รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า จากการอ่านนิตยสารนิวยอร์กไทม์ ฉบับวันที่ 24 มิ.ย. มีการระบุว่า เชื้อตัวนี้มีแหล่งกำเนิดจากเอเชีย เหตุผลคือ มีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อดูยีนของไวรัสแล้วพบว่า เหมือนกับเชื้อที่แยกได้ในหมูของเอเชียเมื่อปี 2004 อย่างไรก็ตามทางเอเชียคงจะมีการตอบโต้ในประเด็นนี้ต่อไป

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขจะประชุมและมีคำแนะนำสำหรับค่ายทหารกรม กอง ต่าง ๆ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ส่วนกรณีหอหัก นั้นไม่น่ากังวล เนื่องจากหอพักแม้จะมีคนอยู่จำนวนมากแต่อยู่กันเป็นห้อง ๆ จึงไม่น่าห่วง
ด้าน นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงอาการของหญิงอายุ 57 ปี ที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ และยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม.ว่า จากการสอบถามอาการจากแพทย์ที่ดูแล เป็นข่าวดีว่า ไข้ลดลงจนเกือบเป็นปกติแล้วและให้ความเข้มข้นออกซิเจนลดลง แสดงให้เห็นว่าคนไข้สามารถหายใจได้เองมากขึ้น คาดว่าในช่วงเย็นวันที่ 25 มิ.ย. จะสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจออกได้ และผลจากการเอ็กซ์เรย์ยังพบการติดเชื้อในปอดลดลง ดังนั้นแนวโน้มอาการผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้นมาก หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้นผู้ป่วยน่าจะปลอดภัย แต่ทั้งนี้แพทย์ยังคงให้รักษาในห้องไอซียูเพื่อเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

นพ.เรวัต กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหาราเรือ ต.บางสาเหร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นั้นมี 1 ราย ที่มีอาการปอดติดเชื้อ ทำให้ในช่วงแรกต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่ขณะนี้สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจออกได้แล้ว แต่ยังอยู่ในห้องไอซียูเพื่อดูแลอยู่

ด้าน นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงนตัวเลขว่า มีพลทหารใหม่ ที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ ป่วยเป็นร้อยคน แต่มีจำนวน 10 กว่าคน ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่อาการดีขึ้น มีเพียง 1 รายเท่านั้นที่อาการหนัก แต่ตอนนี้ปลอดภัยแล้ว ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว

Related Posts:

Thai Health Article (Thailand) | RSS Subscribe | Go to top