สธ.ป้องกันโปลิโอเข้าไทย รณรงค์หยอดวัคซีน พร้อมกันพรุ่งนี้ทั่วประเทศ

Tuesday, January 26, 2010 at 5:05 PM

สธ.ป้องกันโปลิโอเข้าไทย รณรงค์หยอดวัคซีน พร้อมกันพรุ่งนี้ทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีในพื้นที่เป้าหมายพิเศษ และเด็กต่างชาติอายุตำกว่า 15 ปีพร้อมกันทั่วประเทศอีก 1 วันในวันพรุ่งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคโปลิโอหวนกลับไทย เนื่องจากขณะนี้โรคโปลิโอมีการระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้...
วันที่ 26 ม.ค 2553
(อาหารและสุขภาพ, Health channel, Health nutrition, Health article)

สธ.ป้องกันโปลิโอเข้าไทย รณรงค์หยอดวัคซีน พร้อมกันพรุ่งนี้ทั่วประเทศ

กระทรวงสาธารณสุข กำหนดรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีในพื้นที่เป้าหมายพิเศษ และเด็กต่างชาติอายุตำกว่า 15 ปีพร้อมกันทั่วประเทศอีก 1 วันในวันพรุ่งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคโปลิโอหวนกลับไทย เนื่องจากขณะนี้โรคโปลิโอมีการระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ไทย

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 มกราคม 2553) กระทรวงสาธารณสุข กำหนดรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอประจำปี 2552 ครั้งที่ 2 ให้แก่เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ เด็กที่อยู่พื้นที่ทุรกันดาร เด็กด้อยโอกาสในชุมชนแออัด แรงงานก่อสร้าง รับจ้างทำไร่ ทำประมง และเด็กต่างชาติอายุต่ำกว่า 15 ปีในประเทศไทย รวมประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน พร้อมกันทั่วประเทศให้เสร็จในวันเดียว เพื่อให้เด็กทุกคนมีภูมิต้านทานโรคโปลิโอพร้อมกัน หากมีเชื้อโปลิโอเล็ดลอดมาจากนอกประเทศ ก็จะไม่ติดเชื้อและแพร่กระจายในประเทศ เด็กที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวจะมีภูมิต้านทานโรค จึงขอให้พาบุตรหลานไปรับการหยอดวัคซีน ฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพียง 1 วันเท่านั้น

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมาเป็นเวลากว่า 12 ปี แต่โรคนี้มีโอกาสจะหวนกลับมาอีก เนื่องจากบางประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ยังมีการระบาดของโรคนี้อยู่ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดรณรงค์หยอดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอระดับชาติ แก่เด็กไทยและเด็กต่างชาติพร้อมกันทั่วประเทศปีละ 2 ครั้ง ในปี 2552 กำหนดหยอดครั้งที่ 1 วันที่ 23 ธันวาคม 2552 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 มกราคม 2553 กำหนดความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในช่วงรณรงค์ครั้งละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 จากรายงานการรณรงค์ครั้งที่ 1 มีความครอบคลุมประมาณร้อยละ 97

ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โปลิโอเป็นโรคติดต่อ เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ มีชีวิตอยู่ได้เฉพาะในร่างกายคนเท่านั้น เชื้อจะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ ติดต่อกันโดยปนเปื้อนในอาหารหรือติดตามเล็บมือ เชื้อจะไปเจริญเติบโตในลำไส้ อาการสำคัญคือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดตึงกล้ามเนื้อ หากเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท จะทำให้แขน ขาอ่อนแรง หากเกิดที่กระบังลม อาจทำให้เสียชีวิตได้ มักพบโรคนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเด็กเล็กมีภูมิต้านทานน้อย ยังดูแลตนเองไม่ได้ โรคนี้ไม่มียารักษา แต่มีวัคซีนป้องกัน โดยหยอด 5 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 2, 4, 6 เดือน และหยอดกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี และรณรงค์หยอดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันโรคจากต่างประเทศทุกปี ปีละ 2 ครั้ง

สถานการณ์โรคโปลิโอทั่วโลกในปี 2552 มีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 1,588 รายใน 23 ประเทศ ร้อยละ 78 เป็นผู้ป่วยที่เกิดในประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น ที่เหลือเป็นผู้ป่วยในประเทศที่ไม่มีโรคนี้แล้ว แต่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคืออินเดีย 724 ราย รองลงมาคือไนจีเรีย 388 ราย ที่น่าเป็นห่วงคือการระบาดที่ประเทศอินเดีย อัฟกานิสถาน และปากีสถาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากไทย มีประชาชนจากประเทศดังกล่าวเดินทางมาไทยค่อนข้างมาก อาจนำเชื้อโรคมาแพร่ในไทยได้ จึงขอให้พาลูกหลาน รวมทั้งเด็กต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดน ไปรับบริการหยอดวัคซีนในวันพรุ่งนี้ไห้ได้มากที่สุด แม้ว่าไม่ได้มารับวัคซีนครั้งที่ 1 ก็ตาม ก็สามารถรับบริการหยอดในวันพรุ่งนี้ได้

****************************** 26 มกราคม 2553 แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ [26/ม.ค/2553] (อาหารและสุขภาพ, Health channel, Health nutrition, Health article)

Related Posts:

Thai Health Article (Thailand) | RSS Subscribe | Go to top