วิทยา ชี้คลินิกที่ไม่เข้าโครงการจ่ายยา ต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ หากพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ฯให้ส่งตัวรักษาต่อโรงพยาบาลของรัฐทันที - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Monday, August 3, 2009 at 11:58 PM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้คลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไปที่ไม่มีความพร้อมในการจ่ายยาและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อได้ รวมทั้งร้านขายยา ขอให้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม หากพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าไปรักษา ต้องให้คำแนะนำและส่งตั...
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้คลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไปที่ไม่มีความพร้อมในการจ่ายยาและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อได้ รวมทั้งร้านขายยา ขอให้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม หากพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าไปรักษา ต้องให้คำแนะนำและส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลของรัฐทันที ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขย้ำกองทุนช่วยเหลือบุตรชาวราชบุรีที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นรูปธรรม เดือนละไม่เกิน 3,000 บาท

เช้าวันนี้(3 สิงหาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการกระจายยาโอเชลทามีเวียร์ ภายหลังเปิดประชุมแพทย์ พยาบาล ที่ปฏิบัติงานเวชกรรมสังคม ในโรงพยาบาล/โรงพยาบาลทั่วไป ที่โรงแรมมารวย การ์เด้นท์ กรุงเทพฯ ว่า ไม่รู้สึกกังวลเรื่องการกระจายยาต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ให้คลินิก 50 เม็ดในกทม.ที่เข้าร่วมโครงการเพียง 31 แห่ง เนื่องจากคลินิกในกทม.ส่วนใหญ่เป็นคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกเสริมความงาม การเข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้องมีความพร้อม ตามเงื่อนไข 8 ประการที่คณะอนุกรรมการระดับชาติกำหนด ในส่วนต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์ในคลินิกจะทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ ขณะนี้มีคลินิกหลายจังหวัดสมัครเข้าโครงการบ้างแล้ว บางจังหวัดเข้าร่วมร้อยละ 80 ส่วนใหญ่จะเป็นคลินิกในเขตเทศบา ดังนั้นคลินิกที่ไม่มีความพร้อมทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือ ขอให้ร่วมรับผิดชอบสังคม หากมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าไปรักษาตัว ต้องให้คำแนะนำและส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลของรัฐทันที เพื่อร่วมมือกันลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
สำหรับเรื่องการจ่ายยาโอเชลทามีเวียร์ในเด็กเล็ก หากคลินิกไม่สามารถจ่ายได้ ให้ส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที ในวันพรุ่งนี้จะประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และจะนัดหารือการใช้ยาเป็นระยะ

นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ฯ ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม ทั้งข้าราชการ เด็กนักเรียน หรือทำงานในโรงงาน ขอให้ปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้หยุดงาน 7 วันโดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ และไม่ถือเป็นวันลาด้วย โดยเฉพาะพนักงานในโรงงาน หากป่วยแล้วไม่หยุดทำงาน และมีผู้ป่วยจำนวนมากในโรงงาน โรงงานจะต้องปิดหยุดกิจการ ซึ่งจะเกิดความเสียหายตามมา ซึ่งจะหารือเรื่องนี้กับกระทรวงแรงงาน เนื่องจากโรงงานต้องรับผิดชอบต่อสังคม จะเห็นแก่ผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้

ขอความร่วมมือผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทุกราย หลังได้รับยาแล้ว ขอให้พักอยู่ที่บ้าน 7 วันอย่าออกนอกบ้านจนกว่าจะหาย หากปฏิบัติได้ ก็จะสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้ ในวันนี้ได้มอบหมายให้ทีมเวชกรรมสังคมของโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งดูแลรับผิดชอบประชาชนที่อยู่ในเขตเมือง ออกไปให้ความรู้ คำแนะนำประชาชนในการป้องกันตัว เพื่อไม่ให้ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ฯ นายวิทยา กล่าว

ทางด้านนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงภิรมรัตน์ เปียถนอม ชาวราชบุรี ที่มารดาเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ว่า ได้เปิดบัญชีกองทุนที่ธนาคารกรุงไทย สาขาศรีสุริยวงศ์ เลขที่บัญชี 736-0-20208-6 ชื่อบัญชีเด็กหญิงภิรมรัตน์ เปียถนอม เพื่อให้การช่วยเหลือการเลี้ยงดูและการศึกษาของเด็ก โดยมีเงื่อนไขการสั่งจ่ายให้นายจินดา เปียถนอมซึ่งเป็นบิดา หรือนางอำไพ กลมทุกสิ่งซึ่งเป็นย่าของเด็ก เบิกจ่ายได้ครั้งละไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท หากเบิกจ่ายเกินเดือนละ 3000 บาท นายจินดา เปียถนอมหรือนางอำไพ กลมทุกสิ่ง ต้องลงนามร่วมกับนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหลักเมือง

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เลื่อนการจ่ายยาต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ให้คลินิก ขอยืนยันว่าจะต้องมีการจ่ายยาต้านไวรัสฯ ไปคลินิกทุกจังหวัดภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2552 อย่างแน่นอนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเปิดรับสมัครและคัดเลือกคลินิกที่มีคุณสมบัติ 8 ข้อตามที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับชาติกำหนด ซึ่งจะทราบผลจำนวนคลินิกทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการภายในวันนี้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งสำรองแล้วแห่งละ 20,000 เม็ด พร้อมจ่ายให้คลินิกอยู่แล้ว และยังมียาสำรองอยู่ที่สำนักงานควบคุมป้องกันโรคประจำเขตแห่งละ 40,000 เม็ด โรงพยาบาลศูนย์แห่งละ 20,000 เม็ด โรงพยาบาลทั่วไปแห่งละ 10,000 เม็ด และโรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 2,000 เม็ด

Related Posts:

Thai Health Article (Thailand) | RSS Subscribe | Go to top