วิทยา สั่งระดมกำลังเร่งรัดมาตรการป้องกันควบคุม โรคฉี่หนู รับมือการระบาดช่วงปลายฝนต้นหนาว

Monday, September 28, 2009 at 11:57 AM

วิทยา สั่งระดมกำลังเร่งรัดมาตรการป้องกันควบคุม โรคฉี่หนู รับมือการระบาดช่วงปลายฝนต้นหนาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดมาตรการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนทั่วประเทศ และให้ส่วนกลางจัดรองเท้าบู้ทพร้อมเอกสารความรู้สนับสนุนเต็มที่ เพื่อป้องกันควบคุมโรคฉี่หนูที่พบระบาดมากช่วงปลายฝนต้นหนาว เดือนสิงหาคม-ตุลาคม ปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม-19 กันยายน 2552 ...
วันที่ 28 ก.ย 2552
(อาหารและสุขภาพ, Health channel, Health nutrition, Health article)

วิทยา สั่งระดมกำลังเร่งรัดมาตรการป้องกันควบคุม โรคฉี่หนู รับมือการระบาดช่วงปลายฝนต้นหนาว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดมาตรการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนทั่วประเทศ และให้ส่วนกลางจัดรองเท้าบู้ทพร้อมเอกสารความรู้สนับสนุนเต็มที่ เพื่อป้องกันควบคุมโรคฉี่หนูที่พบระบาดมากช่วงปลายฝนต้นหนาว เดือนสิงหาคม-ตุลาคม ปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม-19 กันยายน 2552 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 2,500 ราย ใน 65 จังหวัด โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศทุกปี

เช้าวันนี้ (28 กันยายน 2552) ที่โรงแรมริมปาว จ.กาฬสินธุ์ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์พิสิทธิ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมมอบนโยบายการป้องกันควบคุมโรคเลปโตสไปโรสิส และโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ และเดินทางไปเปิดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคเลปโตสไปโรสิส ที่บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมแจกเอกสารความรู้และรองเท้าบู้ทแก่ประชาชน

นายวิทยา กล่าวว่า โรคเลปโตสไปโรสิส หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า โรคฉี่หนู นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงที่สุดของประเทศทุกปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 มีอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างที่ต้องย่ำน้ำย่ำโคลน มีอายุระหว่าง 35-54 ปี ซึ่งอยู่ในวัยแรงงาน โดยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 5 เท่า เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักจะมีร่างกายแข็งแรง จึงไม่ค่อยมีความกังวลเรื่องสุขภาพมากนัก หากเจ็บป่วยส่วนใหญ่จะซื้อยากินเอง ทำให้มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อโรคฉี่หนูและอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ได้มอบนโยบายให้ทุกพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ เร่งรัดมาตรการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมทั้งอสม. เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค และลดอัตราการป่วยและตายให้มากที่สุด และให้กรมควบคุมโรคจัดเตรียมรองเท้าบู้ท สื่อเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิว กระจายไปยังสำนักงานควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ พร้อมให้การสนับสนุนทุกพื้นที่ตลอดเวลา

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคเลปโตสไปโรสิส พบการระบาดมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ เลปโต สไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีน้ำท่วมขังหรือเฉอะแฉะ โดยมีหนูเป็นพาหะนำโรคสู่สิ่งแวดล้อม เชื้อจะไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผล รอยขีดข่วนหรือถลอก ผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องเดินย่ำน้ำลุยโคลน เช่น ลงเบ็ดตกปลา ทำนา จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้มากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและตายจากโรคนี้จำนวนมาก โดยปี 2550 มีผู้ป่วย 3,279 ราย ตาย 54 ราย ปี 2551 ป่วย 4,210 ราย ตาย 73 ราย สำหรับปี 2552 จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-19 กันยายน 2552 พบผู้ป่วยแล้ว 2,618 ราย จาก 65 จังหวัด ตาย 16 ราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วยสูงสุด 1,731 ราย รองลงมาเป็น ภาคใต้ 472 ราย ภาคเหนือ 302 ราย และภาคกลาง 113 ราย

อาการสำคัญของโรคคือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขา ส่วนใหญ่มีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-10 วัน ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคจึงควรสวมรองเท้าบู้ททุกครั้งที่ต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือทำไร่ทำนา หากจำเป็นต้องแช่น้ำและไม่สามารถใส่รองเท้าบู้ทได้ ควรขึ้นจากน้ำเป็นระยะๆ และทำความสะอาดร่างกาย ดูแลความสะอาดบ้านเรือนและกำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่และแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหาร/ปิดโอ่งน้ำหรือขันน้ำให้มิดชิด และอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนกิน ในช่วงเวลา 7 วันที่มีการลุยน้ำย่ำโคลน หากมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการทำงานที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลนให้ทราบ เพื่อการวินิจฉัยรักษาที่รวดเร็ว

ด้านนายแพทย์พิสิทธิ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีอัตราป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรสิสอยู่ในลำดับที่ 1-2 ของประเทศทุกปี ในปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม-23 กันยายน 2552 พบผู้ป่วยทั้งหมด 187 ราย ตาย 3 ราย ได้ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด เพื่อลดปัญหาความรุนแรงของโรค โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมเสริมความรู้แก่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วในทุกอำเภอ พร้อมประชาสัมพันธ์ความรู้ทางวิทยุชุมชนและหอกระจายข่าวในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับให้อสม.ออกเคาะประตูบ้านให้ความรู้และคัดกรองผู้มีอาการน่าสงสัย นำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน ช่วยให้ได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์อย่างรวดเร็ว

**************************************28 กันยายน 2552
แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ [28/ก.ย/2552] (อาหารและสุขภาพ, Health channel, Health nutrition, Health article)

Related Posts:

Thai Health Article (Thailand) | RSS Subscribe | Go to top