หมอ ชี้อันตราย ง่วง สภาพเหมือนคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต ขับแล้วเสี่ยงตาย

Thursday, December 31, 2009 at 3:48 PM

หมอ ชี้อันตราย ง่วง สภาพเหมือนคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต ขับแล้วเสี่ยงตาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่ดื่มฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ อาจอดนอนข้ามปี ทำให้ง่วง เสี่ยงอันตรายหากขับรถ เพราะสภาพร่างกายหลังง่วงไม่ต่างจากคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต หากโดนฤทธิ์แอลกอฮอล์เสริมด้วย จะออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้ง่วงนอนหนักไปอีก ผลวิจัยในต่างประเทศ พ...
วันที่ 31 ธ.ค 2552
(อาหารและสุขภาพ, Health channel, Health nutrition, Health article)

หมอ ชี้อันตราย ง่วง สภาพเหมือนคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต ขับแล้วเสี่ยงตาย


ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่ดื่มฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ อาจอดนอนข้ามปี ทำให้ง่วง เสี่ยงอันตรายหากขับรถ เพราะสภาพร่างกายหลังง่วงไม่ต่างจากคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต หากโดนฤทธิ์แอลกอฮอล์เสริมด้วย จะออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้ง่วงนอนหนักไปอีก ผลวิจัยในต่างประเทศ พบว่าถ้าอดนอน 24 ชั่วโมงประสิทธิภาพการทำงานร่างกายจะเท่ากับคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผลปฏิบัติงานหน่วยแพทย์ฉุกเฉินในรอบ 2 วัน รถหวอออกช่วยเหลือทุกครึ่งนาที
วันนี้ (31 ธันวาคม 2552) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการรับมือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2553 ที่โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี ว่า ในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด โดยในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 มีผู้บาดเจ็บ 960 ราย เสียชีวิต 87 ราย ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง ให้เสริมกำลังแพทย์ พยาบาล เพิ่มที่ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู เพิ่มอีก 1-2 เท่าตัว สำรองเตียงในหอผู้ป่วยอุบัติเหตุและศัลยกรรมเพิ่มอีกร้อยละ 10 และคลังเลือดครบทุกหมู่ เพื่อให้เพียงพอต่อการให้ความช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ เพื่อลดการเสียชีวิตให้ไม่เกินร้อยละ 2 ตามเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ประการสำคัญในวันนี้เป็นวันส่งท้ายปีเก่าและรับปีใหม่ จะมีการดื่มเฉลิมฉลองกันมาก อาจส่งผลให้การพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการง่วงนอน ซึ่งหากไปขับขี่อาจหลับในอย่างไม่รู้ตัว และไม่สามารถบังคับได้ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น การหลับในทำให้สมองหลับไปแวบหนึ่ง สภาพจึงเสมือนกับคนหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต หรือหมดสติไปช่วงหนึ่ง บางครั้งอาจเกิดร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุที่เกิดจากการหลับในมักเกิดในช่วงเวลาดึก มีความรุนแรงสูง ขับมาคันเดียว หรือขับคนเดียว บนถนนไฮเวย์ ถนนโล่ง หรือทางยาว ทั้งนี้ ผลการวิจัยของประเทศออสเตรเลียพบว่า คนที่อดนอนติดต่อ 18 ชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายจะลดลงเท่ากับคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากอดนอนติดต่อกัน 24 ชั่วโมงจะเท่ากับคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
ขอย้ำเตือนให้ประชาชนที่จะต้องขับขี่รถ ให้พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง หากนอนน้อยกว่านี้จะเกิดการอดนอนและเป็นหนี้การนอนสะสมไปเรื่อย ๆ ต้องชดใช้ด้วยการนอนหลับเท่านั้น โดยสัญญาณอันตรายที่ผู้ขับรถที่เกิดอาการง่วง มี 8 ข้อ คือ 1.หาวนอนบ่อย 2.ใจลอยไม่มีสมาธิ 3.หงุดหงิดกระวนกระวาย 4.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2-3 กิโลเมตร 5.ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นภาพไม่ชัด 6.มึนศีรษะ 7.ขับรถส่ายหรือออกนอกเส้นทาง และ8.มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร โดยช่วงเวลาที่จะง่วงนอนและเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยคือหลังเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวอีกว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ในรอบ 2 วัน ตั้งแต่ 29-30 ธันวาคม 2552 ปฏิบัติการทั้งหมด 6,898 ครั้ง เฉลี่ยออกปฏิบัติการทุกครึ่งนาที ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บหนัก 1,029 ครั้ง เป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด 2,466 ครั้ง ป่วยฉุกเฉิน 3,395 ครั้ง โดยแจ้งผ่าน 1669 รวม 3,513 ครั้ง เฉพาะที่โรงพยาบาลสระบุรี มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษา 97 ราย ต้องนอนโรงพยาบาล 16 รายส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และเมาสุราประมาณร้อยละ 40-50
*********************** 31 ธันวาคม 2552 แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ [31/ธ.ค/2552] (อาหารและสุขภาพ, Health channel, Health nutrition, Health article)

Related Posts:

Thai Health Article (Thailand) | RSS Subscribe | Go to top