สธ.แนะให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หยุดพักอยู่บ้าน ลดการแพร่เชื้อทวีคูณ - Influenza A(H1N1)

Wednesday, July 22, 2009 at 11:37 PM

กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ พบผู้ป่วยยืนยันในรอบ 83 วัน ทั้งหมด 6,776 ราย รักษาหายแล้ว 6,697 ราย เสียชีวิต 44 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาลขณะนี้มีอาการหนัก 7 ราย ชี้แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรคกระจายไปต่างจังหวัด เข้มยุทธศาสตร์ลดการแพร่เชื้อทวีคูณ มุ่งลดการติดเชื้อในบ้าน ที่ทำงาน เน้นให้ผู้ที่มีอาการป่วยหยุดเรียนหยุดงานจนหายป่วย และให้การรักษาเร็ว ผู้ป่วยโรคนี้ 1 คนสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มได้ 2 คน

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โรงพยาบาลศิริราช รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ พญ.สยมพร ศิรินาวิน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พญ.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (Dr. Maureen Birmingham , WHO Representative to Thailand) นพ.ไมเคิล มาลิสัน (Dr. Michael Malison) ผู้แทนศูนย์ความร่วมมือควบคุมโรคไทย-สหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์ไวรัสวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า

จากการวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ พบว่าโรคได้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้ ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อเท่ากัน ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน-21 กรกฎาคม 2552 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทั้งหมด 6,776 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา โดยอาการหายเป็นปกติแล้ว 6,697 ราย กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล 35 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในภาวะวิกฤต 3 ราย เสียชีวิตสะสม 44 ราย โดยเป็นชายและหญิง 22 รายเท่ากัน อายุต่ำสุด 4 เดือน มากสุด 91 ปี เมื่อเปรียบเทียบในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 1621 กรกฎาคม 2552 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 20 ราย เฉลี่ยประมาณ 3 รายต่อวัน

ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด พบว่า 29 ราย หรือร้อยละ 66 มีโรคประจำตัว มากที่สุดคือโรคอ้วน และโรคเบาหวาน ร่วมกับความดันโลหิตสูงหรืออื่นๆ อย่างละ 6 ราย รองลงมาได้แก่ ไตวาย โรคหัวใจ และมะเร็ง อย่างละ 3 ราย ตั้งครรภ์ 2 ราย ที่เหลือเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ตับอักเสบเรื้อรัง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ปอดอักเสบติดเชื้อซ้ำ ร่างกายพิการ และเด็กเล็ก อย่างละ 1 ราย

มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มความเข้มข้นใน 5 เดือนจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี จะเน้นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่คนในครอบครัวและสถานที่ทำงาน ซึ่งจะรองรับมาตรการการหยุดงานหยุดเรียนจนหายป่วยของรัฐบาล ที่ให้พักรักษาตัวที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยให้แยกผู้ป่วยไม่ปะปนคนอื่น หรือแยกห้องได้ยิ่งดี ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ ส่วนคนอยู่ร่วมบ้านที่มีโรคประจำตัวต้องหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งจากการวิเคราะห์ทางวิชาการพบว่า ในระยะนี้การแพร่เชื้อของโรคนี้จะเพิ่มแบบทวีคูณ ผู้ป่วย 1 คนอาจแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 2 คนโดยเฉลี่ย หากสามารถสกัดกั้นจุดนี้ได้ ก็จะสามารถชะลอการแพร่เชื้อลงได้มาก

ส่วนยุทธศาสตร์การรักษา มุ่งเน้นรักษาเร็ว ในผู้ที่มีอาการรุนแรงและกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์ โรคอ้วน และเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ ซึ่งหลังติดเชื้อมีโอกาสอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งควรได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์โดยเร็ว สำหรับผู้ป่วยทั่วไป หากไข้ไม่ลดลงภายใน 48 ชั่วโมง สามารถให้ยารักษาอย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัสในสัปดาห์นี้ทั้งหมด 24 ล้านเม็ด กระจายให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันได้มุ่งป้องกันในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ เพื่อคงกำลังดูแลผู้ป่วยอย่างเพียงพอ และสั่งซื้อหน้ากากอนามัย 10 ล้านชิ้นเพื่อใช้ในสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ และประชาชนในต่างจังหวัดด้วย

ขอเน้นย้ำว่า หากประชาชนทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจป้องกันโรค โดยหมั่นล้างมือ ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม ผู้มีอาการป่วยควรใส่หน้ากากอนามัยตั้งแต่เริ่มมีอาการไข้หวัด รวมทั้งการร่วมมือกันทำความสะอาดเป็นพิเศษ ตามจุดที่มีการแพร่เชื้อได้ง่าย เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ ราวบันได โต๊ะประชุม แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ที่กดชักโครก ก๊อกน้ำอ่างล้างมือ โทรศัพท์สาธารณะ ที่นั่งและราวจับบนรถโดยสาร จะช่วยชะลอการแพร่เชื้อในประเทศได้ดีที่สุด โดยธรรมชาติของการระบาดใหญ่ ทั่วโลกจะไม่อาจหยุดยั้งได้ แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเต็มที่ จะสามารถชะลอและลดระดับการระบาดได้ ในขณะนี้หลายประเทศกำลังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกา และหลายประเทศที่เดิมยังไม่มีการระบาดก็เริ่มพบการติดเชื้อใหม่ เช่น ประเทศในแถบอาฟริกา อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อเมริกาใต้

*********************************** 22 กรกฎาคม 2552

Related Posts:

Thai Health Article (Thailand) | RSS Subscribe | Go to top