สธ.ระดมพลังอสม. 987,019 คนทั่วประเทศ หยุดยั้งภัยไข้หวัดใหญ่ 2009 ถวายพระแม่แผ่นดิน - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Wednesday, August 12, 2009 at 11:59 PM

กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดยั้งภัยหวัดใหญ่ 2009 ถวายแด่พระแม่แห่งแผ่นดิน 12 สิงหาคม 2552 ระดมพลัง อสม. 987,019 คน ออกค้นหาผู้ป่วย ให้ความรู้ประชาชนพร้อมกันทั่วประเทศ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านครัวเรือน พร้อมสนับสนุนงบ 62 ล้านบาท เป็นขวัญกำลังใ...

กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดยั้งภัยหวัดใหญ่ 2009 ถวายแด่พระแม่แห่งแผ่นดิน 12 สิงหาคม 2552 ระดมพลัง อสม. 987,019 คน ออกค้นหาผู้ป่วย ให้ความรู้ประชาชนพร้อมกันทั่วประเทศ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านครัวเรือน พร้อมสนับสนุนงบ 62 ล้านบาท เป็นขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว และ อสม. ในการปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

วันนี้ (12 สิงหาคม 2552) ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เทศบาลเมืองท่าโขลง อ.คลองหลวง ปทุมธานี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมมอบคู่เมือตรวจคัดกรองกลุ่มที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุข 60 ตำบล

นายวิทยา กล่าวว่า เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2552 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมพลังอสม.ทั่วประเทศ 987,019 คน จัดกิจกรรมรณรงค์ต้านภัยหวัดใหญ่2009 พร้อมกันทุกจังหวัด ถวายแด่พระแม่แห่งแผ่นดิน เน้นในเขตชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต กิจกรรมที่รณรงค์ครั้งนี้ เช่น การเดิน การวิ่งออกกำลังกายสร้างสุขภาพ ทำความสะอาดอาคารสถานที่ การให้ความรู้โรคและการตรวจค้นหากลุ่มเสี่ยงอาการป่วยรุนแรง ซึ่งหากพบผู้ที่มีอาการ อสม.จะส่งตัวไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาทันที คาดจะดำเนินการให้ความรู้ประชาชนในวันนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

นายวิทยา กล่าวต่อว่า จากการประเมินสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ของไทย คาดว่าจะระบาดต่อไปอีก 2-3 เดือน โดยขณะนี้โรคได้แพร่กระจายไปทุกจังหวัด เริ่มจากชุมชนเขตเทศบาลก่อน ส่วนคนในชนบทมีโอกาสติดโรคนี้น้อยกว่าคนในเมือง เนื่องจากอยู่ในที่มีอากาศดี สิ่งแวดล้อมไม่แออัด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนไทยประมาณร้อยละ 99 ยังไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้ จึงมีโอกาสติดเชื้อตลอดเวลา และเมื่อมีอาการป่วยแล้ว วิธีลดการแพร่กระจายเชื้อที่ดีที่สุดคือ ผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ ต้องหยุดงานหยุดเรียนเป็นเวลา 7 วันจนหายป่วย หากผู้ป่วยเป็นข้าราชการ ให้หยุดงาน 7 วัน โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ส่วนพ่อแม่หากมีลูกป่วย ก็ให้ลาหยุดเฝ้าลูกได้เช่นกันและไม่ถือเป็นวันลา

สำหรับการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของอสม. ได้ให้ทุกจังหวัดเริ่มดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ สถานีอนามัยตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2552 ภายใต้ยุทธศาสตร์ คือ ค้นหาเร็ว ให้เจอผู้ป่วยเร็ว และให้การรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนอ้วน ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี และหญิงมีครรภ์ หากมีอาการไข้หวัด แม้เพียงเล็กน้อย อสม. ต้องแจ้งให้ไปพบแพทย์ทันที พร้อมรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ ในกลุ่มประชาชนทั่วไป หากมีอาการไข้หวัดแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน อสม.ต้องย้ำก็ให้รีบพบแพทย์เช่นกัน ส่วนกลุ่มทั่วไปที่ยังไม่ป่วย อสม.จะแนะนำให้เร่งสร้างวัคซีนแก่ตนเอง ให้เกิดภูมิต้านทานโรค โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมนุมชน หากจำเป็นต้องคาดหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ครม.ได้สนับสนุนงบกลางในเบื้องต้นประมาณ 62 ล้านบาท จัดสรรเป็นค่าตอบแทนและขวัญกำลังใจ แก่บุคลากรทางการแพทย์ ทีมรักษาพยาบาล ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว รวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนการปฏิบัติงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดอุปกรณ์ป้องกันตนเองให้เจ้าหน้าที่และประชาชนกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ ยังจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม.ด้วย

******************************************************12 สิงหาคม 2552

สธ. ชี้แนวโน้มผู้เสียชีวิตโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของไทยเริ่มทรงตัว คาด 3-4 สัปดาห์ข้างหน้าจะลดลง - Influenza A(H1N1)

Tuesday, August 11, 2009 at 11:59 PM

กระทรวงสาธารณสุข ชี้แนวโน้มผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เริ่มทรงตัว สัปดาห์ที่ผ่านมามี 16 ราย 2 ใน 3 มีโรคประจำตัว เร่งเดินหน้า 4 มาตรการหลัก ได้แก่ กระจายยาต้านไวรัส เร่งผู้ป่วยพบแพทย์เร็วขึ้น ให้แพทย์ยึดแนวทางรักษาของผู้เชี่ยวชาญอย่...

กระทรวงสาธารณสุข ชี้แนวโน้มผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เริ่มทรงตัว สัปดาห์ที่ผ่านมามี 16 ราย 2 ใน 3 มีโรคประจำตัว เร่งเดินหน้า 4 มาตรการหลัก ได้แก่ กระจายยาต้านไวรัส เร่งผู้ป่วยพบแพทย์เร็วขึ้น ให้แพทย์ยึดแนวทางรักษาของผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด และจัดทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษา 24 ชั่วโมง คาดจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า

บ่ายวันนี้ (11 สิงหาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ศุภมิตร ชุณหสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าว ความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า

จากการวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าการระบาดมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเขตกทม. และปริมณฑล ส่วนในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยกลุ่มอายุ 6-20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนแนวโน้มติดเชื้อชะลอตัวลง บ่งชี้ว่ามาตรการคัดกรองเด็กนักเรียนป่วยในโรงเรียนหลายๆ แห่ง เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม และต้องเร่งดำเนินการต่อไป ขณะที่กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มรับจ้างทั่วไปยังมีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องขยายการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะการให้ผู้ที่ป่วยหยุดพักอยู่กับบ้านอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ เริ่มมีสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น โดยในกลุ่มประชาชนทั่วไป เริ่มมีพฤติกรรมในการป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการให้หยุดพักงานอยู่กับบ้าน 7 วัน หลายหน่วยงานจัดระบบติดตามให้มีการพักอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดระบบควบคุมป้องกันโรค ส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคให้กับบุคลากรของหน่วยงาน ส่วนในระดับชุมชน เริ่มมีโครงการความร่วมมือของภาคประชาชนในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เช่น โครงการชุมชนปลอดภัยร่วมใจควบคุมไข้หวัดใหญ่ให้อยู่มือ ของ 9 ชุมชน ในแขวงทุ่งพญาไท กทม. ซึ่งอนุกรรมการชุมชนร่วมกับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกันดำเนินการ ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างได้ผล

สำหรับมาตรการกระจายยาต้านไวรัสลงสู่คลินิกเอกชน สัปดาห์นี้มีคลินิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 18 เขต ทำความเข้าใจมาตรการการจ่ายยาต้านไวรัสกับแพทย์เจ้าของคลินิก เพื่อให้เข้าร่วมมือกับโครงการมากขึ้น โดยจะมีการสรุปและติดตามผลในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม คลินิกบางส่วนได้แสดงความจำนงเป็นเครือข่ายในการคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ขอความร่วมมือเครือข่ายด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น สปสช. สสส. สช. ซึ่งมีสมัชชาสุขภาพเป็นสมาชิกจำนวนมากและทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันกระจายข้อมูลความรู้โรคไข้หวัดใหญ่ไปสู่ประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ในส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1-8 สิงหาคม 2552 ได้รับรายงาน 16 ราย ในจำนวนนี้ 11 ราย เป็นผู้มีโรคประจำตัว ค่าเฉลี่ยวันที่เริ่มป่วยจนถึงได้รับยาต้านไวรัสสั้นลงจาก 7 วัน เหลือ 5-6 วัน โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 50 เริ่มป่วยก่อนที่จะมีนโยบายกระจายยาต้านไวรัสไปสู่คลินิกเอกชน ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรัดเพื่อลดการเสียชีวิต คือ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ มาตรการกระจายยาต้านไวรัส การกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะไปพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน การส่งเสริมให้แพทย์ยึดแนวทางการรักษาตามคู่มือที่คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำหนด และจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า

***************************************11 สิงหาคม 2552

โฆษกสธ. เผยประชาชนโทรถามสายด่วนไข้หวัดใหญ่ 2009 รอบ 7 วันรวมกว่า 4,000 ครั้ง - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 4:15 PM

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยมีประชาชนโทรถามสายด่วนไข้หวัดใหญ่ 2009 หมายเลข 1422 และ 0-2590-3333 รอบ 7 วันมานี้รวมกว่า 4,000 สาย คำถามยอดฮิต 4 อันดับแรกเป็นเรื่องอาการ การป้องกันโรค วัคซีน สิทธิการรักษา และการตรวจยืนยันเชื้อ พร้อมแนะหญิงหลังคลอดที่ก...

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยมีประชาชนโทรถามสายด่วนไข้หวัดใหญ่ 2009 หมายเลข 1422 และ 0-2590-3333 รอบ 7 วันมานี้รวมกว่า 4,000 สาย คำถามยอดฮิต 4 อันดับแรกเป็นเรื่องอาการ การป้องกันโรค วัคซีน สิทธิการรักษา และการตรวจยืนยันเชื้อ พร้อมแนะหญิงหลังคลอดที่กำลังป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะนี้ ยังสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ แต่เพิ่มความระมัดระวัง

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ว่า หลังจากระทรวงสาธารณสุขเปิดสายด่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทางหมายเลข 1422 และ 0-2590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ข้อเท็จจริงโรคไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนให้กระจ่าง ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนโทรสอบถามทั้งหมด 4,580 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 654 ครั้ง คำถามยอดฮิต 4 ลำดับแรก ได้แก่ การสอบถามเรื่องอาการ การป้องกัน การรักษา การติดต่อ รองลงมาได้แก่ เรื่องวัคซีน เรื่องสิทธิการรักษา และการส่งตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ในเรื่องสิทธิการรักษา ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ สามารถใช้สิทธิที่มีอยู่ในการรักษาได้ตามปกติเหมือนโรคทั่วไป จึงไม่ต้องกังวล ส่วนการตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจยืนยันทุกรายเหมือนช่วงที่โรคเพิ่งเข้ามาระบาดครั้งแรก เนื่องจากปัจจุบันโรคมีการระบาดในวงกว้าง และเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทานตลอดชีวิต ไม่ป่วยซ้ำอีก กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นให้ตรวจยืนยันหาเชื้อไวรัสเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หรือผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อประกอบการรักษาของแพทย์ และศึกษาปัญหาเชื้อดื้อยาไม่ให้มีการแพร่กระจาย

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของหญิงหลังคลอดที่ติดเชื้อและกำลังป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ซึ่งคาดว่าจะมีไม่มาก แต่มีความสำคัญ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แนะนำว่ายังสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ติดต่อกันถึง 6 เดือน ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่ในการเลี้ยงจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยให้บีบนมแม่แยกใส่ขวด และให้ผู้อื่นเป็นคนป้อนนมแทนไปก่อนจนกว่าจะหายจากอาการไข้แล้ว 24 ชั่วโมง หากบีบนมไม่ได้และจำเป็นต้องให้ลูกดูดนมเอง จะต้องทำความสะอาดหัวนม ล้างมือด้วยสบู่ และใส่หน้ากากอนามัย ก่อนป้อนนมลูกทุกครั้ง และหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ทางสายด่วนไข้หวัดใหญ่ 1422 และ 0-2590-3333 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีใช้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัย ในส่วนของประเทศไทยจะเริ่มทดสอบในกลุ่มอาสาสมัคร ประมาณต้นเดือนกันยายน 2552 นี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีใช้ขณะนี้ เป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ หากหญิงตั้งครรภ์จะฉีดวัคซีนนี้ แนะนำให้ฉีดหลังตั้งครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป

***************************** 11 สิงหาคม 2552

ปลัดสธ. ชี้ไทยสามารถชะลอการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ หากทั้งคนป่วยและคนที่ยังไม่ป่วย ปฏิบัติตามคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มแข็ง - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 2:48 AM

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ได้รับยาต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ ต้องกินให้ครบตามเวลา 5 วันๆละ 2 เม็ด เพื่อป้องกันการดื้อยา ย้ำประชาชนไทยอย่าตระหนกหากมีการระบาดระลอก 2 ชี้หากทั้งคนป่วยและประชาชนไทยที่ยังไม่ป่วย ร่...
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ได้รับยาต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ ต้องกินให้ครบตามเวลา 5 วันๆละ 2 เม็ด เพื่อป้องกันการดื้อยา ย้ำประชาชนไทยอย่าตระหนกหากมีการระบาดระลอก 2 ชี้หากทั้งคนป่วยและประชาชนไทยที่ยังไม่ป่วย ร่วมมือกันปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง มั่นใจจะสามารถชะลอการแพร่ระบาดโรคได้

วันนี้(10 สิงหาคม 2552) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีข่าวทางสื่อต่างๆ พบการดื้อยาต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการและยุทธศาสตร์ ซึ่งมีศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นหัวหน้าคณะฯ จะประชุมหารือร่วมกันในบ่ายวันนี้ ซึ่งฝ่ายวิชาการจะเป็นผู้ให้คำตอบเกี่ยวกับการดื้อยานี้ได้ชัดเจน ว่ามีการดื้อยาจริงหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการรองรับการดื้อยาแล้ว ซึ่งการป้องกันการดื้อยาที่ดีที่สุด คือผู้ป่วยต้องกินยาให้ครบ 10 เม็ดตามเวลา 5 วันๆละ 2 เม็ด ห้ามหยุดก่อนเวลา โดยวิธีการตรวจสอบการดื้อยามีหลายวิธี ตั้งแต่การตรวจการใช้ยา ตรวจยีนส์ เป็นต้น ส่วนการสำรองยาซานามีเวียร์เพิ่มนั้น เป็นการคาดการณ์ของฝ่ายวิชาการในการเตรียมยาสำรองในประเทศ เพื่อรองรับในกลุ่มที่เกิดปัญหาดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า กรณีที่มีข่าวว่าอาจจะมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯในรอบ 2 นั้น เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคอย่างดีมาก ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยกันแพร่กระจายข้อมูล ความรู้ต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าใจโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯมากขึ้น และปฏิบัติตัวให้ร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกายทุกวันอย่างต่อเนื่อง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ ตลอดจนทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาดอยู่เสมอ

ขอเตือนประชาชนที่ยังไม่ป่วย ให้ปฏิบัติตัวในการป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดตามคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข และไม่ต้องตื่นตระหนก ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทุกราย ขอให้พักอยู่ที่บ้าน 7 วัน อย่าออกนอกบ้านจนกว่าจะหาย หากปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถชะลอการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว

โฆษก สธ.ชี้คนทั่วโลกเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ 2009 เท่ากัน เพราะยังไม่มีภูมิต้านทาน เตือนผู้ที่กินยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ อย่าหยุดยาเองกลางคัน - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Sunday, August 9, 2009 at 11:59 PM

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ชี้คนทั่วโลก รวมทั้งไทย เสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เท่ากัน เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานโรค คนที่ยังปกติขณะนี้ควรเลี่ยงรับเชื้อจากคนป่วย ส่วนผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ต้องกินให้ครบ 10 เม็ด ตามเวลา...
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ชี้คนทั่วโลก รวมทั้งไทย เสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เท่ากัน เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานโรค คนที่ยังปกติขณะนี้ควรเลี่ยงรับเชื้อจากคนป่วย ส่วนผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ต้องกินให้ครบ 10 เม็ด ตามเวลา 5 วัน อย่าหยุดยากลางคัน เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ซึ่งในไทยเริ่มตรวจพบเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า ปัญหาการดื้อยาต้านไวรัสมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากมีการใช้ยากับคนเป็นจำนวนมากโอกาสเกิดการดื้อยาก็จะมีมากขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความระมัดระวังในการใช้ยา โดยกำหนดให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยหนักและผู้ที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรง ซึ่งจะให้ผลการรักษาดีที่สุดใน 48 ชั่วโมง หรือ 72 ชั่วโมงแรกที่เริ่มป่วย จึงย้ำเตือนให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังกินยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อยู่ในขณะนี้ หากหลังกินแล้วอาการดีขึ้นก็อย่าหยุดกินยากลางคัน ขอให้กินจนครบตามแพทย์สั่ง คือวันละ 2 เม็ด ครั้งละ 1 เม็ดเช้าและเย็น จนครบ 5 วัน รวม 10 เม็ด ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา และแพร่ระบาดไปสู่ผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถใช้ยาตัวเดิมได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยาจะต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด

นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า ขณะนี้ทั่วโลกรวมทั้งคนไทยมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯเท่ากัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานเชื้อนี้มาก่อน ในส่วนของไทยคาดว่าจะมีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคนี้แล้วประมาณ 3 - 5 แสนคน ดังนั้น คนที่ยังไม่ป่วยขอให้ป้องกันตนเองไม่ให้รับเชื้อ โดยสามารถติดเชื้อจากผู้ป่วย 4 กรณีใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การอยู่ใกล้กับผู้ป่วยในระยะ 1 2 เมตร เช่น หันหน้าคุยกัน หรือถูกผู้ป่วยไอ จามรด โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ใส่หน้ากากอนามัย 2. การใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า เช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ หรือกินอาหารจากภาชนะเดียวกันโดยไม่ใช้ช้อนกลาง 3. ใช้มือสัมผัสสิ่งของที่อาจมีน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยติดอยู่แล้วเอามือขยี้จมูก ปาก หรือตาตนเอง 4. อยู่ในสถานที่ปิดอับทึบ อากาศถ่ายเทไม่ดี และมีผู้ป่วยปะปนอยู่เช่นสถานบันเทิง อาจมีโอกาสรับเชื้อโดยสูดหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไป เพราะเชื้อโรคที่ผู้ป่วยไอหรือจามออกมาจะถูกสะสมไว้มากและมีความเข้มข้นสูง ซึ่งเชื้อโรคมีชีวิตอยู่ได้ 4 6 ชั่วโมง มีโอกาสที่จะแพร่กระจายอยู่ในอากาศได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ดังกล่าว

สำหรับตามบ้านเรือนต่าง ๆ หากมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ขอให้หยุดงาน หยุดเรียนให้ครบ 7 วันตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนในบ้าน โดยแยกผู้ป่วยให้พักผ่อนเต็มที่อยู่ในห้องส่วนตัว ให้ล้างมือบ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัว กินข้าวแยกต่างหาก สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อยู่ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร และเวลานอนให้อยู่ด้านใต้ลม ส่วนเด็ก คนแก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือหญิงตั้งครรภ์ให้อยู่ห่างจากผู้ป่วย และหมั่นล้างมือ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามสายด่วนไข้หวัดใหญ่ 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

************************************ 9 สิงหาคม 2552

รมช.สธ.รณรงค์แจกหน้ากากอนามัย ในงานคัดสรรผู้ประกาศหน้าข่าวใหม่ทีวีช่อง 7 เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ - Influenza A(H1N1)

Saturday, August 8, 2009 at 11:59 PM

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์แจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ในงานรับสมัครผู้ประกาศหน้าใหม่ของทีวีช่อง 7 เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด และจะเร่งให้ทีมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ตรวจสอบการดื้อยาโอเซลท...
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์แจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ในงานรับสมัครผู้ประกาศหน้าใหม่ของทีวีช่อง 7 เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด และจะเร่งให้ทีมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ตรวจสอบการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ในผู้ป่วยที่พบในโรงพยาบาลรามาธิบดี

วันนี้(8 สิงหาคม 2552) ที่ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล ลาดพร้าว กรุงเทพฯ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์แจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ในงานสรรหาผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่ของทีวีช่อง 7 เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในกลุ่มผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก ญาติ เพื่อนๆที่มาให้กำลังใจ โดยมีการตั้งจุดตรวจหาผู้มีอาการป่วยด้วยเครื่องเทอร์โมสแกนวัดไข้ และแจกเจลล้างมือสำหรับทำความสะอาด เนื่องจากอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก หากมีผู้ป่วยปะปนอยู่ในกลุ่มดังกล่าว อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ได้

นายมานิต กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พบผู้ป่วยมีอาการดื้อยาโอเชลทามีเวียร์ ว่า ในเรื่องการดื้อยาวงการแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้นักวิชาการให้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น สัญญาณต่างๆที่เกิดขึ้นจะทำให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือได้มากยิ่งขึ้น ในเรื่องดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับโรงพยาบาลรามาธิบดี เบื้องต้นได้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าไปตรวจสอบ เพื่อนำข้อมูลของผู้ป่วยที่ดื้อยา รวมถึงรายงานทางวิชาการมาวิเคราะห์หาสาเหตุ ซึ่งในวันที่ 10 สิงหาคมนี้จะนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทีมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ โดยเฉพาะทีมของ รศ.(พิเศษ)นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ มาหารือร่วมกันที่กระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้จากการสุ่มตรวจการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่พบการดื้อยา แต่เมื่อพบข้อมูลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี จะนำมาตรวจสอบเพิ่มมาตรการในการดูแลคุณภาพยาและเพิ่มความระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุมากขึ้น นายมานิต กล่าว

******************************** 8 สิงหาคม 2552

รมช.สธ. ติดตามระบบการแจ้งข้อมูลจ่ายยาโอเชลทามีเวียร์ พบระบบยังไม่สมบูรณ์เร่งแก้ไข - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 11:59 PM

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบพบระบบการแจ้งข้อมูลการจ่ายยาโอเชลทามีเวียร์ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ทราบปริมาณการใช้ยาต่อวันที่ชัดเจน ต้องปรับปรุงระบบการแจ้งข้อมูลการจ่ายยาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อใช้คำนวณการสำรองยาให้เพียงพอ เตรียมความพร้อมหากเก...
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบพบระบบการแจ้งข้อมูลการจ่ายยาโอเชลทามีเวียร์ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ทราบปริมาณการใช้ยาต่อวันที่ชัดเจน ต้องปรับปรุงระบบการแจ้งข้อมูลการจ่ายยาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อใช้คำนวณการสำรองยาให้เพียงพอ เตรียมความพร้อมหากเกิดการระบาดในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยว่า ได้มาติดตามช่องทางพิเศษที่รับตรวจรักษาผู้ป่วยไข้หวัดทุกชนิด ติดตามการใช้ยาโอเชลทามีเวียร์ และระบบการส่งข้อมูลการใช้ยาของโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ที่ส่งข้อมูลการใช้ยาผ่านองค์การเภสัชกรรมว่าแต่ละโรงพยาบาลมีการใช้ยาเพื่อรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไปกี่เม็ด ซึ่งขณะนี้พบว่าระบบยังไม่สมบูรณ์ คงต้องมีการปรับเปลี่ยนและปรับข้อมูล เพื่อให้ทราบว่าในรอบ 1 วัน ทั่วประเทศมีการจ่ายยาโอเชลทามีเวียร์ไปกี่เม็ด เพื่อใช้ในการคำนวณการสำรองยาให้เพียงพอ หากเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม กันยายน ซึ่งเป็นช่วงปกติที่ไข้หวัดใหญ่จะระบาดมากที่สุด คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ต้องปรับปรุงระบบการแจ้งข้อมูลการใช้ยาโอเชลทามีเวียร์ ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งผ่านระบบขององค์การเภสัชกรรมได้ เนื่องจากขององค์การเภสัชกรรมจะทราบแต่ยอดคงเหลือ ไม่มีลงข้อมูลยอดการใช้ยาแต่ละวัน ซึ่งยาที่เข้ามาของระบบโรงพยาบาลบางแห่ง ไม่ได้มาจากแหล่งขององค์การเภสัชกรรมเพียงแหล่งเดียว ทำให้ยอดไม่นิ่ง ต้องการปรับยอดให้นิ่ง

สำหรับการจ่ายยาให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศรีสัชนาลัยไม่มีปัญหาเพราะมีผู้ป่วยจำนวนน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จ่ายยาโอเชลทามีเวียร์ เป็นผู้ป่วยในที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น ได้มอบนโยบายว่า เมื่อตรวจพบผู้ป่วยเข้าข่าย ตามแนวทางปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรืออาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของกระทรวงสาธารณสุข ให้ยาโอเชลทามีเวียร์ทันที หากอาการไม่หนักให้จ่ายยาและกลับไปพักที่บ้านได้ และให้สังเกตคนในครอบครัวหากป่วยมีไข้ให้รีบมารักษาในโรงพยาบาลทันที นายมานิตกล่าว

วิทยา ให้ชุมชนทั่วไทย จัดซ้อมแผนรับมือโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 หากระบาดจริงในชุมชน - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Friday, August 7, 2009 at 11:56 PM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกชุมชนทั่วประเทศ ซ้อมแผนเตรียมความพร้อมในการรับมือการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 หากเกิดโรคระบาดจริงในชุมชน และเตรียมระดมพลังอสม. 987,019 คน จัดกิจกรรมรณรงค์สุขอนามัยต้านภัยหวัดใหญ่ 2009 ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมร...
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกชุมชนทั่วประเทศ ซ้อมแผนเตรียมความพร้อมในการรับมือการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 หากเกิดโรคระบาดจริงในชุมชน และเตรียมระดมพลังอสม. 987,019 คน จัดกิจกรรมรณรงค์สุขอนามัยต้านภัยหวัดใหญ่ 2009 ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในวันแม่แห่งชาติ เริ่มวันนี้ที่เพชรบุรีจังหวัดแรก ก่อนจัดครั้งใหญ่พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 12 สิงหาคม 2552

บ่ายวันนี้ (7 สิงหาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และคณะผู้บริหาร เปิดการรณรงค์ 12 สิงหาคม อสม.เพชรบุรี ร่วมใจต้านภัยไข้หวัดใหญ่เทิดไท้องค์ราชินี และการซ้อมแผนเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระดับชุมชนของ ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นตำบลต้นแบบของ 25 จังหวัดที่อยู่ในภาคกลาง ที่โรงเรียนคงคาราม จ.เพชรบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนและชุมชนในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 พร้อมรับมือหากโรคระบาดเข้าชุมชน ผู้ร่วมซ้อมแผนประกอบด้วย อสม. ผู้บริหารท้องถิ่น แกนนำชุมชน วิทยุชุมชน ครู เจ้าหน้าที่ศูนย์เด็กเล็กจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ปศุสัตว์ ผู้ประกอบการขนส่ง วัฒนธรรมจังหวัด ผู้ประกอบหอพัก ศูนย์การค้า ผู้ประกอบการธนาคาร ค่ายทหาร สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่งานประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์ โทรศัพท์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

การซ้อมครั้งนี้ เป็นการซ้อมใหญ่ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน โดยสมมติสถานการณ์พบนักเรียนป่วยเป็นไข้หวัดหลายราย โดยทำการซักซ้อมขั้นตอนการคัดกรองเด็กป่วยที่หน้าโรงเรียน/หน้าเสาธงและในชั้นเรียน การใช้ห้องพยาบาลสำหรับนักเรียนที่ป่วย แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่งต่อนักเรียนที่ป่วยกลับบ้าน ส่งต่อเข้ารักษาในสถานพยาบาล การทำความสะอาดโรงเรียน สาธิตการผลิตเจลล้างมือ แนะนำการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค และเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ระดับชุมชน ณ ที่ทำการชุมชนพระนครคีรี ชมการสาธิตการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในชุมชน อสม.เยี่ยมบ้านให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ พร้อมมอบชุดสื่อความรู้และอุปกรณ์รณรงค์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แก่ตัวแทน อสม. 8 อำเภอ และปล่อยขบวน อสม. รณรงค์สร้างความเข้าใจในวิธีการป้องกันและควบคุมโรคที่ถูกต้องในชุมชน

นายวิทยากล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อยู่ในช่วงขาขึ้น แนวโรคโน้มแพร่กระจายออกต่างจังหวัดมากขึ้นและเข้าสู่ชนบท หมู่บ้านต่างๆ ได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดูแลสนับสนุนความพร้อมของชุมชนทุกจังหวัดในการรับมือ และให้มีการซักซ้อมแผนปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคในระดับชุมชนทุกแห่ง โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ประสานความร่วมมือกับองค์กรในท้องถิ่น ทั้งอบต. เทศบาล โรงเรียน โรงงาน หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของแต่ละชุมชน หากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 มีการระบาดจริงในชุมชน ก็จะสามารถจำกัดวงระบาดและลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดติดตาม สนับสนุนการทำงานของ อสม. ในการให้ความรู้การป้องกันโรคและคัดกรองค้นหาผู้ป่วยในชุมชน ซึ่งอสม.จะออกเคาะประตูบ้านค้นหาผู้ป่วยทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ขอให้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความรู้ในการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ และค้นหาผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลรักษาทันทีเมื่อป่วย ซึ่งโรคนี้ป้องกันได้ รักษาหายได้ มั่นใจว่าหากทุกชุมชนดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ไทยจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้

นายวิทยากล่าวต่อว่า เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถวันที่ 12 สิงหาคม 2552 กระทรวงสาธารณสุขจะระดมพลังอสม.ทั่วประเทศ 987,019 คน ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์สุขอนามัยต้านภัยหวัดใหญ่ 2009 ถวายแด่พระแม่แห่งแผ่นดิน เริ่มที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นแห่งแรก ก่อนจัดพร้อมกันทั่วประเทศรวมทั้งกทม. ในวันที่ 12 สิงหาคม 2552 เน้นหนักในเขตชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย กิจกรรมที่จะจัดรณรงค์ครั้งนี้ เช่น การเดิน การวิ่งออกกำลังกายเพื่อสร้างสุขภาพให้แข็งแรง การทำความสะอาดอาคารสถานที่ การให้ความรู้เรื่องไข้หวัด 2009 และการคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงหากป่วยเป็นหวัดสายพันธุ์ใหม่ฯ โดยกิจกรรมดังกล่าวจะดำเนินการในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ได้ให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมไว้แล้ว

ด้านนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในการซ้อมแผนรับมือไข้หวัดใหญ่ 2009 ของชุมชนทั่วประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดสาธิตการซ้อมแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในชุมชน นำร่องเป็นต้นแบบภาคละ 1 ชุมชน เริ่มในภาคใต้ที่จังหวัดสงขลาเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภาคกลางที่จังหวัดเพชรบุรี ภาคเหนือที่จังหวัดลำพูน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดยโสธร ในการจัดซ้อม จะให้เจ้าหน้าที่จากทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละภูมิภาคร่วมชมและนำไปขยายผลต่อในชุมชน โดยจะมีการซ้อมแผนทั้งบนโต๊ะและฝึกปฏิบัติจริงในสถานการณ์สมมุติ ซึ่งจะเน้นการป้องกันและควบคุมโรคของทุกภาคส่วนในชุมชน เน้นบทบาท อสม. ในการเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ป่วย ติดตามอาการผู้ป่วยในละแวกบ้าน และเป็นผู้ประสานงานกับองค์กรต่างๆ ในชุมชน ส่วนจังหวัดอื่นๆ ได้สนับสนุนสื่อต้นแบบการสาธิตซ้อมแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดซ้อมแผนอย่างละเอียดทุกขั้นตอน มั่นใจว่าถ้าโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดเข้าชุมชน เจ้าหน้าที่และประชาชนจะสามารถรับมือได้ทันที

************************************ 7 สิงหาคม 2552

สธ.ส่งทีมแพทย์ติดตามอาการเด็กสถานสงเคราะห์วัดสระแก้ว อ่างทอง ทุกวัน เผยส่วนใหญ่อาการเล็กน้อย รับตัวรักษาในโรงพยาบาล 11 คน - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Thursday, August 6, 2009 at 11:59 PM

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจน วัดสระแก้ว จ.อ่างทอง ป่วยเป็นไข้หวัด 150 คน ส่วนใหญ่อาการไม่มาก แพทย์รับตัวรักษาตัวในโรงพยาบาล 11 ราย จัดส่งทีมแพทย์ พยาบาลติดตามอาการต่อเนื่องทุกวันจนกว่าจะหายป่วย และสถานการณ์เข้าสู่ปกติ ว...
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจน วัดสระแก้ว จ.อ่างทอง ป่วยเป็นไข้หวัด 150 คน ส่วนใหญ่อาการไม่มาก แพทย์รับตัวรักษาตัวในโรงพยาบาล 11 ราย จัดส่งทีมแพทย์ พยาบาลติดตามอาการต่อเนื่องทุกวันจนกว่าจะหายป่วย และสถานการณ์เข้าสู่ปกติ วันนี้พบเด็กป่วยเพิ่มอีก 40 ราย อาการเล็กน้อย

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 ที่สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจน วัดสระแก้ว ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง หลังจากที่มีเด็กป่วยพร้อมกันจำนวนมากเมื่อวานนี้ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลป่าโมกและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจคัดกรองเด็กนักเรียน ซึ่งมีทั้งหมด 1,200 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กกำพร้าและยากจนที่พักอยู่ในสถานสงเคราะห์ประมาณ 800 คน วานนี้ (4 สิงหาคม 2552) ผลการตรวจพบว่า มีเด็กนักเรียนป่วยเป็นไข้หวัดทั้งหมด 150 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กประถม และมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ในจำนวนนี้ แพทย์ให้กินยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รวม 29 คน และรับตัวเด็กที่มีไข้สูงไว้รักษาในโรงพยาบาลป่าโมกจำนวน 11 คน ที่เหลือให้กลับไปพักสังเกตอาการที่สถานสงเคราะห์ โดยแยกนอนไม่ปะปนกับเด็กอื่นๆ มีพี่เลี้ยงประจำหอพักดูแลอย่างใกล้ชิด ส่งทีมแพทย์พยาบาลติดตามอาการต่อเนื่องทุกวันจนกว่าจะหายป่วยและสถานการณ์จะเข้าสู่ปกติ

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า เช้าวันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง และโรงพยาบาลป่าโมก ได้จัดทีมแพทย์พยาบาลไปติดตามอาการเด็กที่ป่วย คัดกรองค้นหาเด็กป่วยในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจน วัดสระแก้วซ้ำอีก พร้อมทั้งติดตามการจัดที่พัก โดยให้จัดโซนแยกเด็กป่วยออกจากเด็กที่ยังไม่ป่วย ทำความสะอาดสถานที่ รวมทั้งนำเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรค และหน้ากากอนามัยไปแจกให้เด็กทุกคนใส่ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วันจนพ้นระยะแพร่เชื้อ เพื่อป้องกันควบคุมการแพร่กระจายของโรค

ด้านนายแพทย์สาโรจน์ มะรุมดี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จากการติดตามอาการเด็กนักเรียนป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลป่าโมก และพักอยู่ในหอพักสถานสงเคราะห์ฯวัดสระแก้ว วันนี้ทุกคนอาการดีขึ้น ไข้ลดลง และได้ตรวจคัดกรองเพิ่มพบเด็กป่วยอีก 40 ราย เริ่มมีไข้ ไอเล็กน้อย ได้ให้ยาลดไข้ รักษาตามอาการ แนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และแยกตัวเด็กป่วยไว้ให้นอนพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 11:57 PM

นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อการแพทย์ก้าวหน้า พัฒนาเครือข่ายใส่ใจชุมชน พร้อมมอบนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาด...
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อการแพทย์ก้าวหน้า พัฒนาเครือข่ายใส่ใจชุมชน พร้อมมอบนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้กับสาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในพื้นที่ 19 จังหวัดภาคอีสาน ที่เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน โดยนายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในชุมชน โดยการสร้างเครือข่ายการทำงานของ อสม.เข้าช่วยเฝ้าระวังโรคดังกล่าว โดยใช้ อสม.1 คน ต่อการเฝ้าระวังประชากร 10 ครัวเรือน และให้มีการรายงานสถานการณ์ไปยังสาธารณสุขจังหวัดทุกสัปดาห์ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาด และยืนยันตัวเลขของการแพร่ระบาดได้ตรงและไม่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยก็สามารถดำเนินการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้อย่างทันท่วงที ส่วนอาการของหญิงสาววัย 18 ปี ที่ตั้งครรภ์ 6 เดือน ติดเชื้อไข้หวัด 2009 ล่าสุดได้รับรายงานจากแพทย์ รพ.รามาธิบดี ว่า อาการดีขึ้นแต่ยังต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ในส่วนการดื้อยาต้านไวรัสขณะนี้ยังไม่มีรายงานการดื้อยาเกิดขึ้น

สธ.ชี้แนวโน้มไข้หวัดใหญ่ 2009 ของไทยส่งสัญญาณชะลอตัว ยอดคนเสียชีวิตในสัปดาห์ก่อนลดลง - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 11:55 PM

กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของไทย รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มชะลอตัว จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเหลือ 16 ราย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนอ้วนและผู้มีโรคประจำตัว และมารับการรักษาช้า เฉลี่ย 5-6 วันหลังป่วย ส่วนกลุ่มนักเรียนพบป่วยน้อยลง แต...
กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของไทย รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มชะลอตัว จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเหลือ 16 ราย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนอ้วนและผู้มีโรคประจำตัว และมารับการรักษาช้า เฉลี่ย 5-6 วันหลังป่วย ส่วนกลุ่มนักเรียนพบป่วยน้อยลง แต่กลุ่มรับจ้างและเกษตรกรมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น แนะยึดหลักป่วยแล้วต้องหยุดพักอยู่กับบ้านจนหายเป็นปกติ เพื่อตัดโอกาสแพร่เชื้อ

วันนี้ (5 สิงหาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ. ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์ไวรัสวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิ์วัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พญ.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (Dr. Maureen Birmingham, WHO Representative to Thailand) และ นพ.มาร์ค ซิมเมอร์แมน (Dr. Mark Simmerman) ผู้แทนศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา แถลงข่าวโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า

จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทั่วโลก พบการระบาดกระจายไปกว่า 160 ประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้หยุดการรายงานตัวเลขผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้สะท้อนถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ในส่วนของประเทศไทย จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา คาดว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อประมาณ 3.5-5 แสนคน ส่วนใหญ่หายเป็นปกติแล้วเนื่องจากอาการไม่มาก ซึ่งสอดคล้องกับทั่วโลก การระบาดมีแนวโน้มชะลอตัวลงในกทม.และปริมณฑล ส่วนภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มนักเรียนชะลอลง ชี้ให้เห็นว่ามาตรการคัดกรองเด็กนักเรียนป่วยที่โรงเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มมีผลและถูกต้อง ขณะเดียวกัน พบผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มรับจ้างในภาคธุรกิจย่อยและเกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องเน้นมาตรการของรัฐบาล ที่ให้ผู้ป่วยหยุดพักการทำงานอยู่กับบ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยไม่ถือเป็นวันลา

ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ 26 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2552 กระทรวงสาธารณสุขขึ้นทะเบียนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทั่วประเทศ 16 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 7 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5 ราย ร้อยละ 75 เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว มากที่สุดคือ อ้วน รองลงมาคือ เบาหวาน หอบหืด สูบบุหรี่จัด หัวใจพิการแต่กำเนิด จำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลง เป็นผลมาจากการที่ประชาชนมีความตื่นตัวและเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ดีขึ้น รวมทั้งเข้าถึงยาต้านไวรัสที่กระทรวงสาธารณสุขกระจายไปทั่วประเทศถึงระดับคลินิก อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังมารับการรักษาช้า เฉลี่ยหลังป่วยแล้ว 5-6 วัน ทำให้อาการหนักและการรักษาด้วยยาต้านไวรัสไม่ได้ผล

สำหรับยุทธศาสตร์และมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการต่อไป ยังคงเน้นหนักเรื่อง 2 ลด 3 เร่ง ได้แก่ 1.ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อย่างรวดเร็ว 2.ลดการติดเชื้อและการป่วยให้มากที่สุด โดยกระตุ้นให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง ในการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ และไม่แพร่เชื้อสู่คนอื่นขณะป่วย เช่น ล้างมือบ่อยๆ ใช้หน้ากากอนามัย 3.เร่งให้อสม.กว่า 980,000 คนทั่วประเทศ ออกให้คำแนะนำและค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านและชุมชนเป็นประจำ 4.เร่งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง โดยร่วมมือเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สสส. สปสช. และ 5.เร่งกระจายการบริหารจัดการสู่ระดับจังหวัด โดยรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ติดตาม กำกับ ให้มีการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ในพื้นที่อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่ยังไม่ป่วย ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ หากไปในที่ชุมนุมชนหนาแน่น ให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อ และหากมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด กินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันหลังป่วย ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน หากมีอาการป่วยไข้หวัด ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอรักษาที่บ้าน และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ทางสายด่วน 1422 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

"นพ.ประเสริฐ"เสนอสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมกากรวิจัยหวัด2009 - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Wednesday, August 5, 2009 at 11:59 PM

"นพ.ประเสริฐ"เสนอสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมกากรวิจัยหวัด2009 ตั้งแต่ตัวเชื้อ การรักษา ปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการสื่อสาร เพื่อรับมือป้องกันในอนาคต ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข - นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการการแพทย์และสาธาร...
"นพ.ประเสริฐ"เสนอสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมกากรวิจัยหวัด2009 ตั้งแต่ตัวเชื้อ การรักษา ปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการสื่อสาร เพื่อรับมือป้องกันในอนาคต

ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข - นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการการแพทย์และสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นมา และไม่เคยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มาก่อน ซึ่งผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะรวบรวมเป็นความรู้ทางวิชาการเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต สำหรับประเด็นในการศึกษาวิจัยจะวิจัยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเชื้อ ภาวะโรค การรักษา

นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า การวิจัยเกี่ยวกับตัวเชื้อไวรัสชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 นั้น จะศึกษาตั้งแต่ลักษณะพันธุกรรมเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของเชื้อนี้ ตลอดจนยังเป็นการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อที่นำไปสู่การกลายพันธุ์ที่อาจนำมาถึงความรุนแรงในการก่อโรคได้ การศึกษากลไกการสร้างภูมิกันและการตอบสนองต่อการติดเชื้อไข้หวัด 2009 ที่ระบาดไปทั่วโลก การศึกษาความรุนแรงของโรคในผู้ป่วย พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นจากตัวเชื้อที่มีทั้งอาการรุนแรงและไม่รุนแรง ทั้งนี้การวิจัยนี้จะนำไปสู่การสร้างโมเดล เพื่อพยากรณ์สถานการณ์การระบาดของเชื้อและการรับมือป้องกันในอนาคต

ส่วนการวิจัยในด้านการป้องกัน จะมีการทบทวนและประเมินมาตรการในการป้องกันโรคที่ได้มีการนำมาใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดในครั้งนี้ เช่น การใช่เทอร์โมสแกนในการวัดอุณหภูมิร่างกาย มาตรการการปิดโรงเรียน เป็นต้น การศึกษาแนวทางการนำยาต้านไวรัสมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อหวัด 2009 และความคุ้มค่าในการนำมาใช้ นอกจากนี้ยังศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบป้องกันโรคโดยประชาชนเน้นการมีส่วนร่วม

นอกจากนี้การวิจัยนี้ยังศึกษาด้านการรักษาโรค มาตรการรักษาที่นำมาใช้ เช่น การใช้ชุดทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อซึ่งจะดูในเรื่องแม่นยำในการตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้นำไปสู่การวิจัยและพัฒนาชุดทดสอบเพื่อใช้ในการเฝ้าระวังโรค และตรวจวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว การศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีผลการลุกลามของตัวเชื้อที่ส่งผลให้เกิดภาวะโรคที่รุนแรง การศึกษาทางคลินิกและการพัฒนาของตัวโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่เสียชีวิตและมีอาการที่พบได้น้อย

ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการศึกษาวิจัยด้านการสื่อสารความเสี่ยงด้วย โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบของการให้ข่าวที่คลาดเคลื่อนของบุคคลต่างๆ อาทิ นักการเมือง ผู้บริหาร นักวิชาการ ต่อการปฏิบัติในการป้องกันโรค

วิทยา ขยายเวลาให้คลินิกเข้าร่วมโครงการจ่ายยา ต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ อีก 2 สัปดาห์ - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Tuesday, August 4, 2009 at 11:59 PM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามผลการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทั่วประเทศ ขยายเวลาเปิดรับสมัครอีก 2 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ตั้งเป้าให้มีคลินิกเป็นพันธมิตรครบทุกอำเภอ เพื่อรับมือการระบาดที่คาดว่ายังจะขยายตัวต่อไปอีกหลายเดือน ...

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามผลการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทั่วประเทศ ขยายเวลาเปิดรับสมัครอีก 2 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ตั้งเป้าให้มีคลินิกเป็นพันธมิตรครบทุกอำเภอ เพื่อรับมือการระบาดที่คาดว่ายังจะขยายตัวต่อไปอีกหลายเดือน และให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขหาความร่วมมือร้านขายยาทุกจังหวัด ร่วมเป็นเครือข่ายส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงรักษา

วันนี้(4 สิงหาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต เพื่อประเมินสถานการณ์ความคืบหน้าของการขยายเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยให้คลินิกในต่างจังหวัด เข้าร่วมโครงการดูแลผู้ป่วยรวมถึงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อลดการเสียชีวิตของประชาชนจากไข้หวัดใหญ่ 2009 และให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายจัดการโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เน้นยุทธศาสตร์ 2 ลด ได้แก่ ลดการติดเชื้อให้จำนวนผู้ป่วยลดลง และลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด และ 3 เร่ง ได้แก่ การให้อสม.เร่งให้ความรู้ คำแนะนำและค้นหาผู้ป่วยในชุมชน เร่งเผยแพร่ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค และเร่งการบริหารจัดการสู่ภูมิภาค เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่มีแนวโน้มกระจายต่างจังหวัดมากขึ้นและโรคยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้นเรื่อยๆ

นายวิทยากล่าวว่า จากการติดตามผลการรับสมัครคลินิกเข้าร่วมโครงการเป็นเครือข่ายบริการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทั่วประเทศ พบเข้าร่วมโครงการได้รับการอบรมแนวทางการดูแลรักษาตามมาตรฐานที่คณะแพทย์กำหนด คลินิกที่พร้อมรับยาต้านไวรัสฯแล้วแห่งละ 50 เม็ด บางจังหวัดอยู่ระหว่างการประชุม โดยจะขยายเวลารับสมัครออกไปอีก 2 สัปดาห์ ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2552

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้มากที่สุด กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายจะเพิ่มคลินิกเอกชนให้เป็นพันธมิตรในการร่วมให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ให้ครบทุกอำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่อรับมือกับการระบาดที่จะยังคงแพร่ขยายต่อไป ซึ่งจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต จัดประชุมร้านขายยา ซึ่งมีจำนวนมาก เพื่อขอความร่วมมือให้ร่วมเป็นเครือข่ายในการแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ดี จากการประเมินสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แนวโน้มโรคขยายตัวจากเขตเมืองลงสู่เขตชนบท ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ความสำคัญ ในการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคโดยเร็ว โดยได้สั่งการให้สถานีอนามัย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ให้ความเอาใจใส่แก่กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ และคนอ้วน พร้อมทั้งให้อสม.ในพื้นที่ ช่วยติดตามเฝ้าระวังกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้อสม.ได้ตระเวนออกให้ความรู้ค้นหาผู้ป่วยในชุมชนทุกวันจันทร์ พุธและศุกร์ มั่นใจว่ามาตรการลดการติดเชื้อและลดจำนวนผู้เสียชีวิตจะเข้าสู่ระบบที่เข็มแข็งและรัดกุมมากขึ้น

มานิต เร่งองค์การเภสัชกรรม ผลิตยาต้านไวรัสชนิดน้ำสำหรับเด็ก - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Monday, August 3, 2009 at 11:59 PM

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันทั่วประเทศมียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เพียงพอ พร้อมจ่ายให้ประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับยาทันที ทั้งที่โรงพยาบาลและคลินิกที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ขณะเดียวกันเร่งรัดองค์การเภสัชกรรมผลิตยาต้านไวรัสชนิดน้ำ สำหรั...

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันทั่วประเทศมียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เพียงพอ พร้อมจ่ายให้ประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับยาทันที ทั้งที่โรงพยาบาลและคลินิกที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ขณะเดียวกันเร่งรัดองค์การเภสัชกรรมผลิตยาต้านไวรัสชนิดน้ำ สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่เป็นเด็กโดยเฉพาะ

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังติดตามมาตรการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในคลินิก เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่มิตรไมตรีคลินิกเวชกรรม ถ.สนามบินน้ำ อ.เมือง จ.นนทบุรี ว่า คลินิกที่จะเข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์นั้น จะมีเฉพาะคลินิกที่รักษาโรคทั่วไป ไม่รวมถึงคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกด้านความงาม ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประชุมทำความเข้าใจแนวทางการให้ยาต้านไวรัสกับคลินิกที่เข้าร่วมโครงการให้ชัดเจน ก่อนจะดำเนินการจ่ายยาให้สำรองที่คลินิกแห่งละ 50 เม็ด ซึ่งสามารถรักษาผู้ป่วยได้ 5 คน เพื่อให้ทุกแห่งปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง

นายมานิต กล่าวต่อว่า แม้คลินิกที่เข้าร่วมโครงการแต่ละแห่งจะมียาต้านไวรัสเพียงแห่งละ 5 ชุด แต่ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมียาต้านไวรัสให้กับประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับยาอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เพราะเมื่อคลินิกจ่ายให้กับผู้ป่วยแล้ว สามารถเบิกคืนกับโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่ตั้งคลินิก เพื่อสำรองให้ครบจำนวนได้ตลอด ดังนั้น ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หญิงตั้งครรภ์ และคนอ้วน หากป่วยเป็นไข้หวัด กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 วัน ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ

นายมานิต กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ในการใช้จะต้องแบ่งคำนวณจากยาแคปซูลของผู้ใหญ่ ซึ่งต้องใช้เภสัชกรดูแลผสมยา และมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ยังไม่สามารถจ่ายยาให้เด็กในคลินิกได้ ได้เร่งรัดให้องค์การเภสัชกรรม ผลิตยาต้านไวรัสชนิดน้ำสำหรับเด็กให้เร็วที่สุดแล้ว หากสามารถผลิตได้เร็วก็จะยิ่งสะดวกสำหรับการรักษาผู้ป่วยเด็กมากขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประเมินผลการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้แก่ประชาชน ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และคลินิกที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ เพื่อดูปริมาณการใช้ยา รวมทั้งติดตามอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภายหลังเพิ่มช่องทางการเข้าถึงยาให้รวดเร็วขึ้น ว่าลดลงหรือไม่ เพื่อปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

***************************************3 สิงหาคม 2552

วิทยา ชี้คลินิกที่ไม่เข้าโครงการจ่ายยา ต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ หากพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ฯให้ส่งตัวรักษาต่อโรงพยาบาลของรัฐทันที - ไข้หวัดใหญ่ 2009

at 11:58 PM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้คลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไปที่ไม่มีความพร้อมในการจ่ายยาและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อได้ รวมทั้งร้านขายยา ขอให้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม หากพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าไปรักษา ต้องให้คำแนะนำและส่งตั...
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้คลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไปที่ไม่มีความพร้อมในการจ่ายยาและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อได้ รวมทั้งร้านขายยา ขอให้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม หากพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าไปรักษา ต้องให้คำแนะนำและส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลของรัฐทันที ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขย้ำกองทุนช่วยเหลือบุตรชาวราชบุรีที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นรูปธรรม เดือนละไม่เกิน 3,000 บาท

เช้าวันนี้(3 สิงหาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการกระจายยาโอเชลทามีเวียร์ ภายหลังเปิดประชุมแพทย์ พยาบาล ที่ปฏิบัติงานเวชกรรมสังคม ในโรงพยาบาล/โรงพยาบาลทั่วไป ที่โรงแรมมารวย การ์เด้นท์ กรุงเทพฯ ว่า ไม่รู้สึกกังวลเรื่องการกระจายยาต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ให้คลินิก 50 เม็ดในกทม.ที่เข้าร่วมโครงการเพียง 31 แห่ง เนื่องจากคลินิกในกทม.ส่วนใหญ่เป็นคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกเสริมความงาม การเข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้องมีความพร้อม ตามเงื่อนไข 8 ประการที่คณะอนุกรรมการระดับชาติกำหนด ในส่วนต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์ในคลินิกจะทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ ขณะนี้มีคลินิกหลายจังหวัดสมัครเข้าโครงการบ้างแล้ว บางจังหวัดเข้าร่วมร้อยละ 80 ส่วนใหญ่จะเป็นคลินิกในเขตเทศบา ดังนั้นคลินิกที่ไม่มีความพร้อมทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือ ขอให้ร่วมรับผิดชอบสังคม หากมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าไปรักษาตัว ต้องให้คำแนะนำและส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลของรัฐทันที เพื่อร่วมมือกันลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
สำหรับเรื่องการจ่ายยาโอเชลทามีเวียร์ในเด็กเล็ก หากคลินิกไม่สามารถจ่ายได้ ให้ส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที ในวันพรุ่งนี้จะประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และจะนัดหารือการใช้ยาเป็นระยะ

นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ฯ ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม ทั้งข้าราชการ เด็กนักเรียน หรือทำงานในโรงงาน ขอให้ปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้หยุดงาน 7 วันโดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ และไม่ถือเป็นวันลาด้วย โดยเฉพาะพนักงานในโรงงาน หากป่วยแล้วไม่หยุดทำงาน และมีผู้ป่วยจำนวนมากในโรงงาน โรงงานจะต้องปิดหยุดกิจการ ซึ่งจะเกิดความเสียหายตามมา ซึ่งจะหารือเรื่องนี้กับกระทรวงแรงงาน เนื่องจากโรงงานต้องรับผิดชอบต่อสังคม จะเห็นแก่ผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้

ขอความร่วมมือผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทุกราย หลังได้รับยาแล้ว ขอให้พักอยู่ที่บ้าน 7 วันอย่าออกนอกบ้านจนกว่าจะหาย หากปฏิบัติได้ ก็จะสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้ ในวันนี้ได้มอบหมายให้ทีมเวชกรรมสังคมของโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งดูแลรับผิดชอบประชาชนที่อยู่ในเขตเมือง ออกไปให้ความรู้ คำแนะนำประชาชนในการป้องกันตัว เพื่อไม่ให้ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ฯ นายวิทยา กล่าว

ทางด้านนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงภิรมรัตน์ เปียถนอม ชาวราชบุรี ที่มารดาเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ว่า ได้เปิดบัญชีกองทุนที่ธนาคารกรุงไทย สาขาศรีสุริยวงศ์ เลขที่บัญชี 736-0-20208-6 ชื่อบัญชีเด็กหญิงภิรมรัตน์ เปียถนอม เพื่อให้การช่วยเหลือการเลี้ยงดูและการศึกษาของเด็ก โดยมีเงื่อนไขการสั่งจ่ายให้นายจินดา เปียถนอมซึ่งเป็นบิดา หรือนางอำไพ กลมทุกสิ่งซึ่งเป็นย่าของเด็ก เบิกจ่ายได้ครั้งละไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท หากเบิกจ่ายเกินเดือนละ 3000 บาท นายจินดา เปียถนอมหรือนางอำไพ กลมทุกสิ่ง ต้องลงนามร่วมกับนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหลักเมือง

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เลื่อนการจ่ายยาต้านไวรัสโอเชลทามีเวียร์ให้คลินิก ขอยืนยันว่าจะต้องมีการจ่ายยาต้านไวรัสฯ ไปคลินิกทุกจังหวัดภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2552 อย่างแน่นอนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะเปิดรับสมัครและคัดเลือกคลินิกที่มีคุณสมบัติ 8 ข้อตามที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับชาติกำหนด ซึ่งจะทราบผลจำนวนคลินิกทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการภายในวันนี้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งสำรองแล้วแห่งละ 20,000 เม็ด พร้อมจ่ายให้คลินิกอยู่แล้ว และยังมียาสำรองอยู่ที่สำนักงานควบคุมป้องกันโรคประจำเขตแห่งละ 40,000 เม็ด โรงพยาบาลศูนย์แห่งละ 20,000 เม็ด โรงพยาบาลทั่วไปแห่งละ 10,000 เม็ด และโรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 2,000 เม็ด

วิทยาสั่งทำป้ายจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ติดที่หน้าคลินิกที่ร่วมโครงการของสธ. - Influenza A(H1N1)

at 11:55 PM

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มั่นใจระบบการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ถึงคลินิก จะทำให้ประชาชนที่ป่วยได้รับความสะดวก ได้กินยาเร็วขึ้น เชื่อลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ พร้อมสั่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพทำสติ๊กเกอร์ติดหน้าคลินิกที่ร่วมจ่ายยาต้านไวรัส ชี้ผลกิน...

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มั่นใจระบบการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ถึงคลินิก จะทำให้ประชาชนที่ป่วยได้รับความสะดวก ได้กินยาเร็วขึ้น เชื่อลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ พร้อมสั่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพทำสติ๊กเกอร์ติดหน้าคลินิกที่ร่วมจ่ายยาต้านไวรัส ชี้ผลกินยาต้านไวรัสเร็วจะช่วยลดภาวะปอดบวม

วันนี้ (3 สิงหาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ และดูการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ที่คลินิกเวชกรรม กม. 30 อ.เมือง จ.สมุทรปราการ และให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ เข้าถึงยาต้านไวรัสได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง โดยขณะนี้ได้กระจายยาต้านไวรัสให้คลินิกที่เข้าร่วมโครงการแห่งละ 5 ชุด เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยได้รับความสะดวก ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลซึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก มั่นใจว่ามาตรการนี้จะลดการเสียชีวิตของประชาชนลงได้ ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครง ให้ขึ้นป้ายประกาศหน้าคลินิกแจ้งให้ประชาชนทราบ และมอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ออกแบบจัดทำป้ายสติ๊กเกอร์แจกคลินิกทั่วประเทศในสัปดาห์หน้า

ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการมีผู้ป่วยปอดอักเสบอาการหนักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู 2 ราย รายแรกเป็นชายอายุ 51 ปี ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลบางบ่อ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว แต่ความดันโลหิตดีขึ้น โดยได้รับยาโอเซลทามิเวียร์ครบตั้งแต่รักษาตัวที่โรงพยาบาลบางบ่อ รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 72 ปี ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลพระสมุทรเจดีย์เมื่อวานนี้ (2สิงหาคม 2552) ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน กินยาไม่สม่ำเสมอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระสมุทรเจดีย์ด้วยอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลมีภาวะแทรกซ้อนที่ปอด แพทย์ให้ยาปฏิชีวนะ และให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ รอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ วันนี้ยังมีไข้ต่ำๆ รู้สึกตัวดี ความดันปกติ ผู้ป่วยทั้ง 2 รายนี้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศิริราชมาร่วมดูแลอย่างใกล้ชิดร่วมกับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลสมุทรปราการ

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีหญิงอายุ 20 ปี ตั้งครรภ์ 5 เดือนมาตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสมุทรปราการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ด้วยอาการไข้สูง มีน้ำมูก แพทย์ให้ยาโอเซลทามิเวียร์ไปกินที่บ้าน รายนี้มีปัญหาปอดอักเสบร่วมด้วย แต่ได้รับยาทันทำให้อาการหายเป็นปกติ อาการปลอดภัยทั้งแม่และลูก ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เหมือนกันทั่วประเทศ รายใดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ยังไม่ลดหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังป่วย 48 ชั่วโมง แพทย์จะให้กินยาต้านไวรัสทันที ซึ่งเป็นแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทั่วโลกใช้ โดยยาดังกล่าวจะลดภาวะปอดบวม ลดการเข้านอนโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิต

***************************3 สิงหาคม 2552

โฆษกสธ.เน้นย้ำประชาชนที่ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ขอให้กินยาให้ครบ 5 วัน - Influenza A(H1N1)

at 11:50 PM

กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงวัย 31 ปี ตั้งครรภ์ 5 เดือน ที่จังหวัดเชียงใหม่ คาดทราบผล 1-2 วันนี้ พร้อมย้ำเตือนประชาชนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ขอให้กินยา...
กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงวัย 31 ปี ตั้งครรภ์ 5 เดือน ที่จังหวัดเชียงใหม่ คาดทราบผล 1-2 วันนี้ พร้อมย้ำเตือนประชาชนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ขอให้กินยาให้ครบ 5 วัน ชี้ยานี้อาจมีผลข้างเคียงบ้าง ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพการรักษา ป้องกันเชื้อดื้อยา

จากกรณีที่มีหญิงวัย 31 ปี ตั้งครรภ์ 5 เดือน ชาวอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เสียชีวตโดยไม่ทราบสาเหตุ ระหว่างเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลแมคคอมิค ซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตบอกว่าก่อนเสียชีวิตผู้ตายมีไข้สูง ญาติจึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตระหว่างเดินทาง ในเบื้องต้นโรงพยาบาลแมคคอมิคระบุว่าผู้เสียชีวิตรายนี้เพราะปอดอักเสบอย่างรุนแรงนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารรณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์รายนี้เป็นการด่วน เพื่อควบคุมโรค จากที่ได้รับรายงานผู้เสียชีวิตรายนี้ป่วยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2552 ด้วยอาการไข้ ไอ และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแมคคอมิค เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2552 ในเบื้องต้นยังไม่ยืนยันว่าเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ซึ่งเชื้อที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบมีทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ต้องรอผลการตรวจยืนยันทางกห้องปฎิบัติการ ซึ่งจะทราบใน 1-2 วันนี้

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ เพื่อให้ประชาชนที่ป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสฯโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเสียชีวิต โดยได้กระจายยาไปโรงพยาบาลต่างๆทั้งภาครัฐเอกชนประมาณ 1,200 แห่งทั่วประเทศ และกระจายไปยังคลินิกที่เข้าร่วมโครงการทั้งในกทม.และต่างจังหวัดด้วย ต้องขอความร่วมมือประชาชนในรายที่แพทย์ให้กินยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ขอให้กินยาให้ครบสูตรคือ 5 วันตามแพทย์ ซึ่งยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงที่มักพบได้เหมือนกันทั่วโลก ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ ท้องเสีย ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา และป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ การกินยาไม่ครบจะทำให้เชื้อมีปัญหาดื้อยา ส่งผลให้การรักษามีความยุ่งยากขึ้น หรือทำให้เชื้อมีความรุนแรงขึ้นไปอีก ทั้งนี้วิธีลดอาการข้างเคียงของยาต้านไวรัสฯดังกล่าว ขอให้ประชาชนกินยาพร้อมอาหาร ก็ช่วยบรรเทาอาการได้

ทางด้านนายแพทย์ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองโรคประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ขณะนี้กองการประกอบโรคศิลปะ ยังเปิดรับสมัครคลินิกในกทม.เข้าร่วมโครงการ เพิ่มศักยภาพสร้างแนวทางการรักษาและควบคุมไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวานนี้ได้จัดอบรมคลินิกไปแล้ว 181 แห่ง และสมัครเข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสฯไปแล้ว 31 แห่ง และเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งคลินิกที่ได้รับยาต้านไวรัสจะต้องติดป้ายหรือสติกเกอร์ว่าเป็นเครือข่ายรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนรับทราบและได้รับการยกเว้นเก็บค่ายาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ คลินิกอื่นๆที่สนใจจะร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กองการประกอบโรคศิลปะ หมายเลขโทรศัพท์ 02-5901331 ในวันเวลาราชการ

สธ.อบรมคลินิกในกทม. พร้อมจ่ายยาต้านไวรัสให้คลินิกที่ผ่านเกณฑ์ทันที 50 เม็ด พร้อมใช้รักษาตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป รายใดที่อาการรุนแรงให้ส่งรักษาต่อ 6 โรงพยาบาลในสังกัด - ไข้หวัดใหญ่ 2009

Sunday, August 2, 2009 at 11:59 PM

สาธารณสุข จัดอบรมความรู้ แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ให้แพทย์คลินิกในกทม.ที่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์วันนี้ คลินิกที่ผ่านเกณฑ์จะจ่ายยาต้านไวรัสฯแห่งละ 50 เม็ดทันที พร้อมใช้รักษาตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ย้...
สาธารณสุข จัดอบรมความรู้ แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ให้แพทย์คลินิกในกทม.ที่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์วันนี้ คลินิกที่ผ่านเกณฑ์จะจ่ายยาต้านไวรัสฯแห่งละ 50 เม็ดทันที พร้อมใช้รักษาตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ย้ำประชาชนที่ใช้บริการคลินิกต้องเสียค่าบริการอื่น ฟรีเฉพาะยาต้านฯอย่างเดียว พร้อมจัด 6 โรงพยาบาลเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยอาการรุนแรงจากคลินิกในกทม.

วันนี้ ( 2 สิงหาคม 2552 ) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ให้คลินิกตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในวันนี้ กรมสนับสนุนบริการฯได้ประชุมและจัดอบรมความรู้ในการวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ให้แพทย์จากคลินิกต่างๆในกทม.ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการคลินิกอบอุ่นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีคลินิกลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและรับการอบรมครั้งนี้ 177แห่ง ส่วนใหญ่เป็นคลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไป ซึ่งมีประมาณ 1 ใน 3 ของคลินิกทั้งหมดในเขตกทม. และยังมีอีกจำนวนมากที่สนใจ แต่มารับการอบรมไม่ได้เนื่องจากมีแพทย์ประจำเพียง 1 คน ซึ่งสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการกับกองการประกอบโรคศิลปะภายหลังได้

นายแพทย์สมยศกล่าวว่า ได้ชี้แจงมาตรการ 8 ข้อตามที่คณะอนุกรรมการการแพทย์กำหนด ได้แก่1.คลินิกต้องมีแพทย์เป็นผู้ดูแลและการสั่งจ่ายยาต้านไวรัสต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น 2. มีบันทึกทางการแพทย์และรายงานอาการข้างเคียงจากการใช้ยา 3. มีการส่งต่อผู้ป่วยในรายที่มีอาการรุนแรงเกินกว่าจะดูแลรักษา 4. มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงโรคของผู้ป่วยที่ดูแลรักษา 5. มีการป้องกันการติดเชื้อในสถานที่ตรวจ 6. แพทย์ต้องได้รับการอบรม และผ่านการประเมินความรู้ความเข้าใจ 7. แพทย์ต้องให้การดูแลรักษาตามแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้ป่วย ( Clinical Practice Guideline) และ 8. มีการติดตาม ตรวจสอบ หารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาเป็นประจำทุกเดือน

ทั้งนี้หลังจากคลินิกรับทราบเงื่อนไขต่างๆ จากนั้นจะให้กรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการ และหากคุณสมบัติได้ตามหลักเกณฑ์ กองประกอบโรคศิลปะจะจ่ายยาต้านไวรัสให้ทันที แห่งละ 50 เม็ด พร้อมที่จะใช้รักษาประชาชนตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ซึ่งยาต้านไวรัสนี้จะให้ฟรี คลินิกไม่สามารถคิดเงินค่ายาส่วนนี้ ดังนั้นประชาชนที่เข้าใช้บริการที่คลินิกที่ร่วมโครงการ จะได้รับการยกเว้นค่ายาเฉพาะยาต้านไวรัสโอเซลทาเวียร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่บริการอื่นๆคงต้องจ่ายตามปกติ เช่นยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้อักเสบ และอื่นๆเป็นต้น โดยให้คลินิกจัดทำสรุปหลักฐานการจ่ายยา ส่งกองการประกอบโรคศิลปะทุกสัปดาห์ หรือหากยาหมดก่อนก็สามารถแจ้งรายงานการใช้ก่อนได้

นายแพทย์สมยศกล่าวต่อว่า หากแพทย์คลินิกพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ฯที่มีอาการรุนแรง ให้ส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยมีแบบฟอร์มการบันทึกประวัติการรักษาผู้ป่วยที่คลินิกควบคู่ไปด้วย เพื่อการดูแลรักษาต่อของแพทย์โรงพยาบาล โดยให้ส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในกทม.และปริมณฑล 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันโรคทรวงอก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และสถาบันบำราศนราดูร ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามระบบการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในเขตกทม. ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากในกทม.มีโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. กลาโหม ทบวงมหาวิทยาลัย ตำรวจ สภากาชาดไทย จำนวนมาก ประชาชนที่เจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส สามารถเข้าถึงยาได้ง่าย และหากกระจายในคลินิกเพิ่มขึ้น ก็จะสร้างความมั่นใจประชาชนได้เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นไปอีก

ด้านนายแพทย์ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเอกสารทำแนวทางการป้องกันการการแพร่กระจายเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในคลินิก โดยให้คลินิกจัดสถานที่ตรวจผู้ป่วยที่สงสัยไข้หวัดใหญ่คือมีไข้ ร่วมกับอาการไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ เป็นต้น ให้ผู้ป่วยทุกรายสวมหน้ากากอนามัยระหว่างรอตรวจ ต้องจัดให้มีจุดล้างมือด้วยน้ำ และสบู่หรือเจลล้างมือ รวมถึงถังขยะติดเชื้อ

ทั้งนี้คลินิกเอกชน ที่รับฝากครรภ์หรือรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ ควรแยกจุดบริการผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ออกจากผู้ป่วยอื่นๆตั้งแต่การทำบัตร คัดกรอง ตรวจรักษา จ่ายเงินและรับยา โดยบุคลากรในคลินิกต้องได้รับการอบรมความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่ และการควบคุมการติดเชื้อในคลินิก และมีการดูแลความสะอาดคลินิกตามมาตรฐาน คลินิกทุกแห่งหลังจากที่ตรวจรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว ต้องแนะนำผู้ป่วยให้ใช้หน้ากากอนามัยปิดปาก ปิดจมูกตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการคลุกคลีบุคคลในครอบครัว และหากมีอาการมากขึ้น คือมีไข้สูงเกิน 2 วัน นับจากมีไข้วันแรก ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระมาก ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที โดยได้จัดส่งแนวทางดังกล่าวให้คลินิกทั่วประเทศเพื่อปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันแล้ว นายแพทย์ธารากล่าว

**************** 2 สิงหาคม 2552

สธ.อบรมคลินิกในกทม. พร้อมจ่ายยาต้านไวรัสให้คลินิกที่ผ่านเกณฑ์ทันที 50 เม็ด พร้อมใช้รักษาตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป รายใดที่อาการรุนแรงให้ส่งรักษา

at 11:58 PM

สาธารณสุข จัดอบรมความรู้ แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ให้แพทย์คลินิกในกทม.ที่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์วันนี้ คลินิกที่ผ่านเกณฑ์จะจ่ายยาต้านไวรัสฯแห่งละ 50 เม็ดทันที พร้อมใช้รักษาตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ย้...
สาธารณสุข จัดอบรมความรู้ แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ให้แพทย์คลินิกในกทม.ที่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์วันนี้ คลินิกที่ผ่านเกณฑ์จะจ่ายยาต้านไวรัสฯแห่งละ 50 เม็ดทันที พร้อมใช้รักษาตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ย้ำประชาชนที่ใช้บริการคลินิกต้องเสียค่าบริการอื่น ฟรีเฉพาะยาต้านฯอย่างเดียว พร้อมจัด 6 โรงพยาบาลเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยอาการรุนแรงจากคลินิกในกทม.

วันนี้ ( 2 สิงหาคม 2552 ) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ให้คลินิกตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในวันนี้ กรมสนับสนุนบริการฯได้ประชุมและจัดอบรมความรู้ในการวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ให้แพทย์จากคลินิกต่างๆในกทม.ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการคลินิกอบอุ่นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีคลินิกลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและรับการอบรมครั้งนี้ 177แห่ง ส่วนใหญ่เป็นคลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไป ซึ่งมีประมาณ 1 ใน 3 ของคลินิกทั้งหมดในเขตกทม. และยังมีอีกจำนวนมากที่สนใจ แต่มารับการอบรมไม่ได้เนื่องจากมีแพทย์ประจำเพียง 1 คน ซึ่งสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการกับกองการประกอบโรคศิลปะภายหลังได้

นายแพทย์สมยศกล่าวว่า ได้ชี้แจงมาตรการ 8 ข้อตามที่คณะอนุกรรมการการแพทย์กำหนด ได้แก่1.คลินิกต้องมีแพทย์เป็นผู้ดูแลและการสั่งจ่ายยาต้านไวรัสต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น 2. มีบันทึกทางการแพทย์และรายงานอาการข้างเคียงจากการใช้ยา 3. มีการส่งต่อผู้ป่วยในรายที่มีอาการรุนแรงเกินกว่าจะดูแลรักษา 4. มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงโรคของผู้ป่วยที่ดูแลรักษา 5. มีการป้องกันการติดเชื้อในสถานที่ตรวจ 6. แพทย์ต้องได้รับการอบรม และผ่านการประเมินความรู้ความเข้าใจ 7. แพทย์ต้องให้การดูแลรักษาตามแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้ป่วย ( Clinical Practice Guideline) และ 8. มีการติดตาม ตรวจสอบ หารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาเป็นประจำทุกเดือน

ทั้งนี้หลังจากคลินิกรับทราบเงื่อนไขต่างๆ จากนั้นจะให้กรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการ และหากคุณสมบัติได้ตามหลักเกณฑ์ กองประกอบโรคศิลปะจะจ่ายยาต้านไวรัสให้ทันที แห่งละ 50 เม็ด พร้อมที่จะใช้รักษาประชาชนตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ซึ่งยาต้านไวรัสนี้จะให้ฟรี คลินิกไม่สามารถคิดเงินค่ายาส่วนนี้ ดังนั้นประชาชนที่เข้าใช้บริการที่คลินิกที่ร่วมโครงการ จะได้รับการยกเว้นค่ายาเฉพาะยาต้านไวรัสโอเซลทาเวียร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่บริการอื่นๆคงต้องจ่ายตามปกติ เช่นยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้อักเสบ และอื่นๆเป็นต้น โดยให้คลินิกจัดทำสรุปหลักฐานการจ่ายยา ส่งกองการประกอบโรคศิลปะทุกสัปดาห์ หรือหากยาหมดก่อนก็สามารถแจ้งรายงานการใช้ก่อนได้

นายแพทย์สมยศกล่าวต่อว่า หากแพทย์คลินิกพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ฯที่มีอาการรุนแรง ให้ส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยมีแบบฟอร์มการบันทึกประวัติการรักษาผู้ป่วยที่คลินิกควบคู่ไปด้วย เพื่อการดูแลรักษาต่อของแพทย์โรงพยาบาล โดยให้ส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในกทม.และปริมณฑล 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันโรคทรวงอก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และสถาบันบำราศนราดูร ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามระบบการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในเขตกทม. ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากในกทม.มีโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. กลาโหม ทบวงมหาวิทยาลัย ตำรวจ สภากาชาดไทย จำนวนมาก ประชาชนที่เจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส สามารถเข้าถึงยาได้ง่าย และหากกระจายในคลินิกเพิ่มขึ้น ก็จะสร้างความมั่นใจประชาชนได้เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นไปอีก

ด้านนายแพทย์ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเอกสารทำแนวทางการป้องกันการการแพร่กระจายเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในคลินิก โดยให้คลินิกจัดสถานที่ตรวจผู้ป่วยที่สงสัยไข้หวัดใหญ่คือมีไข้ ร่วมกับอาการไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ เป็นต้น ให้ผู้ป่วยทุกรายสวมหน้ากากอนามัยระหว่างรอตรวจ ต้องจัดให้มีจุดล้างมือด้วยน้ำ และสบู่หรือเจลล้างมือ รวมถึงถังขยะติดเชื้อ

ทั้งนี้คลินิกเอกชน ที่รับฝากครรภ์หรือรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ ควรแยกจุดบริการผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ออกจากผู้ป่วยอื่นๆตั้งแต่การทำบัตร คัดกรอง ตรวจรักษา จ่ายเงินและรับยา โดยบุคลากรในคลินิกต้องได้รับการอบรมความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่ และการควบคุมการติดเชื้อในคลินิก และมีการดูแลความสะอาดคลินิกตามมาตรฐาน คลินิกทุกแห่งหลังจากที่ตรวจรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว ต้องแนะนำผู้ป่วยให้ใช้หน้ากากอนามัยปิดปาก ปิดจมูกตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการคลุกคลีบุคคลในครอบครัว และหากมีอาการมากขึ้น คือมีไข้สูงเกิน 2 วัน นับจากมีไข้วันแรก ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระมาก ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที โดยได้จัดส่งแนวทางดังกล่าวให้คลินิกทั่วประเทศเพื่อปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันแล้ว นายแพทย์ธารากล่าว

**************** 2 สิงหาคม 2552

รมช.สธ.เผยอสม.ปฏิบัติการค้นหาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ฯ2009 วันแรกเยี่ยมบ้านได้ 2 ล้านหลังคาเรือน - Influenza A(H1N1)

at 11:27 PM

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผย 2 สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและมาพบแพทย์ช้า เร่งลงพื้นที่ย้ำ อสม.ออกปฏิบัติการค้นหาผู้ป่วยไข้หวัด เน้นผู้ป่วยโรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน โรคไต ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ...
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผย 2 สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและมาพบแพทย์ช้า เร่งลงพื้นที่ย้ำ อสม.ออกปฏิบัติการค้นหาผู้ป่วยไข้หวัด เน้นผู้ป่วยโรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน โรคไต ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ โรคอ้วน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงมีครรภ์ พบจากปฏิบัติการวันแรก อสม.เยี่ยมบ้านไปแล้ว กว่า 2 ล้านหลังคาเรือน

วันนี้(2 สิงหาคม 2552)นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย และโรงพยาบาลจังหวัดเลย พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และรับฟังปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน นอกจากนี้ได้มอบนโยบายให้กับ อสม. ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในหมู่บ้าน/ชุมชน ลดการเสียชีวิต

นายมานิต กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ในกลุ่มผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พบสาเหตุใหญ่เกิดมาจาก 2 ประเด็นคือ การเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย ได้แก่ โรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน โรคไต ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ โรคอ้วน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงมีครรภ์ พบได้กว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เมื่อป่วยแล้วมาพบแพทย์ช้าเกินไป ทำให้โรคลุกลามไปมากจนไม่สามารถรักษาได้

ในการแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ระดมพลัง อสม.กว่า 987,000 คนทั่วประเทศ ออกเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อให้คำแนะนำและแจกเอกสารความรู้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แก่ประชาชน เพื่อให้สามารถปฎิบัติตัวได้อย่างถูกวิธี และค้นหาคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ทุกหมู่บ้านชุมชนในความรับผิดชอบของแต่ละคน ประมาณ 10 -15 หลังคาเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังข้างต้น ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีที่ป่วยเป็นไข้หวัด ส่วนประชาชนทั่วไปให้ติดตามอาการ หากป่วยเป็นไข้หวัด 2 วันแล้วยังไม่ดีขึ้นให้ส่งไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ลดการเสียชีวิต และติดตามอาการจนหายป่วย พร้อมทั้งรายงานข้อมูลคนป่วยให้สถานีอนามัยในพื้นที่ทุกวัน ซึ่งจากการดำเนินในวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นวันแรกของการออกปฏิบัติการค้นหาผู้ อสม.ทั่วประเทศสามารถเยี่ยมบ้านได้ กว่า 2 ล้านหลังคาเรือน
พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือประธานอสม. ทุกหมู่บ้านจัดทำแผนป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ที่เหมาะสมกับหมู่บ้าน/ชุมชนของตน ส่งให้กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมเพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ในระดับชนบท ทุกจังหวัด

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ส่งทีมเจ้าหน้าที่ ออกให้ความรู้การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งคัดกรองผู้ป่วยในโรงเรียน สถานประกอบการ โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งตั้งจุดตรวจผู้ป่วยหรือสงสัยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แยกออกจากห้องตรวจโรคของผู้ป่วยทั่วไป ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service) เพื่อสามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยอื่นๆ ส่วนในด้านการรักษาพยาบาล ได้จัดส่งคู่มือแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศแล้ว เน้นการรักษาที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยง สามารถให้ยาต้านไวรัสได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการนายมานิต กล่าว

*****2 สิงหาคม 2552
Thai Health Article (Thailand) | RSS Subscribe | Go to top